วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๔ ธนาคารกลาง

บทที่ ธนาคารกลาง
          ธนาคารกลาง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมเครดิตและระบบการเงินของประเทศ ธนาคารกลางมีความสำคัญเพราะรัฐบาลของทุกประเทศจะมอบหมายให้ธนาคารกลางเป็นผู้จัดระบบการเงินของประเทศให้สามารถอำนวยประโยชน์แก่สมาชิกส่วนรวม ธนาคารกลางมักได้รับอำนาจพิเศษ และเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นของประเทศ
          ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่มีธนาคารกลางเป็นของตนเอง ธนาคารกลางหลายประเทศมีแบบมาจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศไทยมีธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันทางการเงินที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.
2485 มีฐานะเป็นองค์กรอิสระอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศ ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และนำหน้าที่เป็นนายธนาคารของรัฐบาล
หน้าที่ของธนาคารกลาง
          โดยทั่วไปธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ มีอำนาจหน้าที่สำคัญใน
4 ประการเหมือน ๆ กัน คือ
1. เป็นผู้ออกธนบัตร ตามปกติธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ออกธนบัตร เพื่อที่จะได้ควบคุมปริมาณธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนให้พอดีกับความต้องการของธุรกิจและประชาชนทั่วไป โดยมีกฎหมายควบคุมการออกธนบัตรให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน และจัดการเกี่ยวกับธนบัตรเพื่อความมีเสถียรภาพของเงินตราของประเทศ
2. เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ในฐานะนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่น ธนาคารจะทำหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ
         
2.1 รับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ ตามปกติธนาคารพาณิชย์จะต้องฝากเงินสดสำรองตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 2 ไว้กับธนาคารกลาง นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์มักจะฝากเงินสดส่วนที่เกินความจำเป็นต้องใช้ประจำวันไว้กัยธนาคารกลางเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงินสดมาใช้เมื่อถึงคราวจำเป็น และใช้เป็นเงินสดสำรองสำหรับชำระหนี้หรือโอนเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน
         
2.2 รับหักบัญชีระหว่างธนาคาร โดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งฝากเงินไว้ที่ธนาคารกลาง เมื่อมีหนี้สินระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่จำเป็นต้องชำระหนี้ระหว่างกันให้เสียเวลา ธนาคารพาณิชย์จะชำระหนี้ธนาคารโดยผ่านธนาคารกลาง วิธีการก็คือ ในทุก ๆ วัน เจ้าหน้าที่ของธนาคารต่าง ๆ จะนำเช็คมายังสำนักหักบัญชี เพื่อหักหนี้สินที่มีต่อกัน เมื่อหักลบหนี้กันแล้วยอดคงเหลือเท่าใด ก็จะแจ้งให้ธนาคารกลางทราบ เพื่อจะได้เพิ่มบัญชีเงินฝากของธนาคารเจ้าหนี้ และลดบัญชีเงินฝากของธนาคารลูกหนี้
         
2.3 เป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย ธนาคารกลางจะเป็นแหล่งสุดท้ายที่ธนาคารพาณิชย์จะพึ่งได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฉุกเฉิน เช่น ธนาคารใดเกิดขาดเงินมีเงินสดไม่พอจ่ายให้ลูกค้า ธนาคารกลางก็พร้อมให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืม ธนาคารกลางจะมีฐานะเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์

3. เป็นนายธนาคารของรัฐบาล และตัวแทนทางการเงินของรัฐบาล
         
ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
         
3.1 ถือบัญชีเงินฝาก ธนาคารกลางจะรักษาบัญชีเงินฝากของรัฐวิสาหกิจ และองค์กรต่าง ๆ ของรัฐบาล และทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็คที่หน่วยงานต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจสั่งจ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ทำนองเดียวกับธนาคารพาณิชย์อำนวยบริการให้แก่ลูกค้าของตน
         
3.2 ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจกู้ยืม รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอาจกู้ยืมจากธนาคารกลางโดยการขายตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตร แต่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะระมัดระวังมิให้รัฐบาล หรือ รัฐวิสาหกิจกู้เงินไปมากเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้
         
3.3 เป็นตัวแทนทางการเงินของรัฐบาล ธนาคารกลางจะเป็นตัวแทนจัดการทางการเงินของรัฐบาลทั้งในประเทศและนอกประเทศ เช่น ติดต่อหาแหล่งเงินกู้ให้รัฐบาล เป็นตัวแทนประมูลขายตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และตราสารอื่น ๆ เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการติดต่อองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น

4. ดำเนินนโยบายการเงิน  นับเป็นหน้าที่และบทบาทอันสำคัญของธนาคารกลางในการควบคุมปริมาณเงินของประเทศให้มีปริมาณที่เหมาะสม ใช้มาตรการต่าง ๆ ดำเนินนโยบายเงินเฟ้อ เงินเปรียบเสมือนการรักษาระดับน้ำในนาให้พอดี ควบคุมมิให้ระดับน้ำสูงหรือต่ำจนเกินไป ถ้าระดับน้ำสูงเกินไปน้ำจะท่วมข้าวเสียหาย ถ้าน้ำน้อยเกินไปข้าวก็จะตาย น้ำในระดับพอดีจึงจะช่วยให้ข้าวงอกงาม ปริมาณเงินที่ใช้หมุนเวียนก็เช่นกัน ถ้าในขณะหนึ่งขณะใดปริมาณเงินที่อยู่ในมือประชาชนมากเกินไป ประชาชนมีอำนาจซื้อมากกว่าปริมาณสินค้า และบริการที่มีอยู่ เราต้องการซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่ในขณะนั้นสินค้ามีขายน้อย ไม่พอกับความต้องการจนต้องแย่งกันซื้อ พ่อค้าก็จะถือโอกาสขึ้นราคาสินค้าให้สูงขึ้น เมื่อสินค้าโดยทั่วไปมีราคาสูงขึ้น ค่าของเงินหรืออำนาจซื้อของเงินจะลดต่ำลง


ธนาคารแห่งประเทศไทย
1. ประวัติการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย
          ความคิดในการจัดตั้งเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงริเริ่มตั้งสำนักงาน บุคคลัภย์ (
Book Club Association ) ซึ่งต่อมาก็คือ แบงก์สยามกัมมาจล ( Siam Commercial Bank )  ขึ้นที่บ้านหม้อ เมื่อ พ.ศ. 2447 และ บุคคลัภย์ นี้หากว่ากิจการเจริญดีก็ทรงตั้งพระทัยจะให้เป็นแบงก์ของชาติต่อไป ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2475 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ว่าจ้าง เซอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ นักการธนาคารชาวอังกฤษ ให้มาพิจารณาดูว่าจะเปลี่ยนแปลงแบงก์สยามกัมมาจล ให้เป็นธนาคารแห่งประเทศไทยได้หรือไม่ ซึ่งเซอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ ให้ความเห็นว่าควรจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น แล้วซื้อกิจการของแบงค์สยามกัมมาจลมาดำเนินการเอง แต่ก็ยังมิได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
          หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.
2475 แล้ว จึงมีการรื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นอีก เพราะว่าบ้านเมืองต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในครั้งนั้นทั้งในวงการรัฐบาลและวงวิชาการ ต่างก็มีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งพอสรุปได้ว่า การตั้งธนาคารกลางขึ้นเท่านั้นที่จะเป็นทางขจัดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้ผ่านพ้นไปได้ แม้กระนั้นก็ดีความปรารถนาที่จะตั้งธนาคารกลางก็ยังมิได้สัมฤทธิ์ผล จนกระทั่งรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง สำนักงานธนาคารชาติไทย ขึ้นทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 สำนักงานนี้มีหน้าที่ประกอบธุรกิจของธนาคารกลางเฉพาะแต่บางประเภท จึงยังได้มีฐานะเป็นธนาคารโดยสมบูรณ์ แต่ก็นับได้ว่า สำนักงานธนาคารชาติไทยได้ก่อกำเนิดเบื้องต้นให้แก่ธนาคารกลางเป็นครั้งแรก
          ต่อมาในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพารัฐบาลได้จัดตั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารกลางขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.
2485 โดยมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
2. หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
          ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันการเงินที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณเงินและเครดิตของประเทศ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.
2485 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้พอสรุปได้ดังนี้ คือ
         
2.1 ออกและพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะออกธนบัตรรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ
          (
1) ออกธนบัตรใหม่แทนธนบัตรเก่าที่ชำรุดเสียหาย
          (
2) ออกธนบัตรใหม่เมื่อได้รับทุนสำรองเงินตราเพิ่มขึ้น
โรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้พิมพ์ธนบัตรออกใช้หมุนเวียน ส่วนเหรียญกษาปณ์นั้น กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเป็นผู้ผลิต
         
2.2 เก็บรักษาทุนสำรองเงินตรา ในการออกธนบัตรใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยกฎหมายกำหนดให้มีทุนสำรองเงินตรา ประกอบด้วยทองคำกับหลักทรัพย์และเงินตราต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ ส่วนอีกร้อยละ 40 เป็นหลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่ชำระหนี้และดอกเบี้ยเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเป็นเงินบาท และตั๋วเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพึงซื้อหรือรับช่วงซื้อลดได้ เพื่อสร้างความเชื่อถือของประชาชนให้มีต่อธนบัตรที่รัฐบาลออกมาใช้ และให้ใช้สำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่เก็บรักษาทุนสำรองเงินตราไว้
         
2.3 เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ และคอยกำกับดูแล ธนาคารแห่งประเทศไทยให้บริการแก่ธนาคารพาณิชย์ คือ  
          (
1) รักษาบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
          (
2) เป็นสำนักงานกลางในการหักบัญชีระหว่างธนาคาร
          (
3) เป็นผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย
          (
4) เป็นศูนย์กลางการโอนเงิน
          หน้าที่ทั้ง
4 ประการนี้ นักเรียนได้ทำความเข้าใจมาแล้วในตอนต้นของบทนี้ที่กล่าวถึงหน้าที่ของธนาคารกลางทั่วไป นอกจากนี้ ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยยังทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ให้ธนาคารพาณิชย์ขออนุญาตเมื่อจะเปิดสาขาแห่งใหม่กำหนดเงื่อนไขในการกู้ยืม การกำหนดให้ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ลูกค้าผู้ฝากเงิน เป็นต้น
          
2.4 เป็นนายธนาคารของรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาบัญชีเงินฝากของหน่วยงานรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ ซื้อขายเงินตราต่างประเทศให้รัฐบาล
         
2.5 ดำเนินกิจการการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคอยควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน รักษาเงินสำรองระหว่างประเทศ รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ทำธุรกิจติดต่อร่วมมือกับธนาคารกลางของต่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

อ้างอิงจาก : เอนก เธียรถาวร และคณะ.  ๒๕๓๕. หนังสือเรียนสังคมศึกษา รายวิชา ส ๐๖๒ การเงิน การธนาคาร และการคลัง . กรุงเทพมหานคร :  วัฒนาพานิช

1 ความคิดเห็น: