วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๗ สถาบันการเงิน และการคลังรัฐบาล ในชีวิตประจำวัน

บทที่ 7 สถาบันการเงิน และการคลังรัฐบาล ในชีวิตประจำวัน
1. เงินออมกับการออม
          เงินออม (
Savings) ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่เราไม่ได้ใช้ให้หมดไปกับการบริโภค เงินที่เก็บออมไว้สามารถนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตผลสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ เช่น นาย ก ขายสินค้าได้กำไร 30,000 บาท และจากรายได้จำนวนนี้เข้าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคไปเสีย 25,000 บาท ที่เหลืออีก 5,000 บาท เป็นเงินที่นาย ก เก็บออมไว้ ทำนองเดียวกัน สมมุติว่าในปีที่ล่วงมาแล้ว ทุกคนในประเทศไทยช่วยกันทำมาหากินมีรายได้ที่เราเรียกว่า รายได้ประชาชาติ ทั้งสิ้น 1,320,000 ล้านบาท และใช้จ่ายเพื่อการบริโภคไปเสีย 1,070,000 ล้านบาท ที่เหลือ 250,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินออมของประเทศไทย ที่สามารถนำไปลงทุนในการผลิตสินค้าและบริการให้คนในประเทศอยู่ดีกินดีได้มากขึ้น นักเรียนจะสังเกตเห็นได้ว่าเราจะเก็บออมได้มากขึ้น เมื่อขยันขันแข็งทำงานให้มีรายได้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรใช้จ่ายเพื่อการบริโภคแต่เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บออมได้มากขึ้น
          การออมในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นการออมผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น นำไปฝากธนาคารพาณิชย์ นำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น การออมในลักษณะนี้นอกจากผู้ออมจะได้รับความปลอดภัยและมีผลประโยชน์งอกเงยแล้ว ยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจส่วนรวมอีกด้วย เพราะจะเป็นช่องทางให้สถาบันการเงินสามารถระดมเงินฝากเหล่านี้ไปให้ผู้ประกอบการกู้ยืมไปลงทุนขยายการผลิต และมีการลงทุนมากขึ้น มีการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น อันจะเป็นแนวทางทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นได้ในที่สุด
          เมื่อสมาชิกในครัวเรือนขยันขันแข็งสามารถหารายได้เพิ่มขึ้น และจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง ครัวเรือนจะมีเงินเหลือพอที่จะเก็บออมไว้เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และเตรียมไว้ใช้จ่ายเมื่อยามฉุกเฉิน  หรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในอนาคต ถ้านักเรียนในฐานะสมาชิกของครัวเรือนรู้จักใช้เงินให้ถูกต้อง จะทำให้สามารถเก็บออมไว้ได้คราวละเล็กน้อย จนกระทั่งมีเงินมากพอที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการได้
         
1.1 วัตถุประสงค์ของการออม ตามวัฏจักรของครัวเรือน เริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวแต่งงาน เลี้ยงดูบุตรหลานจนเติบโต จนกระทั่งแยกตัวออกไปทำงานและแต่งงานเริ่มชีวิตครัวเรือนใหม่นั้น ครัวเรือนมีความต้องการเงินก้อนที่เก็บออมไว้แตกต่างกัน ครัวเรือนที่รอบคอบมองการณ์ไกล ควรจะเก็บออมเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้
          (
1) การออมเพื่อประโยชน์ระยะสั้น ในระยะสั้นอาจมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพื่อรักษาพยาบาล สมาชิกในครัวเรือน ให้การศึกษาแก่บุตรหลาน จัดหาที่อยู่อาศัย ยานพาหนะสำหรับครัวเรือน ตลอดจนการพักผ่อนประจำปี จึงควรเก็บออมรายได้ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในระยะสั้น
          (
2) การออมเพื่อประโยชน์ระยะยาว ในระยะยาวครัวเรือนจะต้องมีแผนการออมเงินจำนวนหนึ่งไว้เพื่อการศึกษาในระดับสูงของบุตรธิดา เพื่อใช้จ่ายเมื่อต้องออกจากงาน เพื่อการลงทุนไว้เก็บดอกผลดำรงชีวิตเมื่อยามชราให้เป็นปกติสุข และประกันชีวิตเพื่อสมาชิกในครัวเรือน
         

1.2 แนวทางการประหยัดเพื่อการออม
          ผู้บริโภคมักเชื่อว่าตนเองไม่สามารถจะเก็บออมได้หากเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำ และถ้าเป็นผู้ที่มีรสนิยมสูง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยการเก็บออมยิ่งกระทำได้ยาก อันที่จริงความสามารถในการเก็บออมขึ้นอยู่กับการฝึกฝนจนเป็นนิสัยมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับรายได้ นักเรียนคงจะเคยสังเกตเห็นเพื่อน ๆ บางคน แม้เขาจะมีรายได้น้อยแต่ก็สามารถเก็บออมได้เป็นประจำสม่ำเสมอ ความสามารถในการเก็บออมจึงขึ้นอยู่กับความพยายาม และความตั้งใจของผู้บริโภคมากกว่า ถ้าหากตั้งใจและฝึกฝนจนเป็นนิสัยการออมย่อมจะเกิดขึ้นได้ หลักการออมมีดังต่อไปนี้
          (
1) ใช้จ่ายอย่างประหยัด การใช้จ่ายอย่างประหยัด หมายถึง การทำสิ่งเล็กน้อยที่สุดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ( Making the most of the least) เมื่อใช้จ่ายได้สิ่งของอย่างใดมาจะต้องใช้ให้คุ้มค่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักจะมีนโยบายให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างประหยัดและออมทรัพย์ไว้ใช้ยามจำเป็น ทั้งนี้ก็เพราะตามปกติรายได้ของสมาชิกในครัวเรือนนั้นมีอยู่จำกัด ถ้าผู้บริโภคไม่ใช้จ่ายอย่างประหยัดแล้ว แม้จะมีรายได้สูงสักเท่าใด ก็ย่อมจะไม่เป็นการเพียงพอ และไม่สามารถจะเก็บออมไว้ได้ ซ้ำยังจะต้องกลายเป็นผู้มีหนี้สินเป็ภาระมากมาย
          ปัจจุบันรายจ่ายของครัวเรือนในประเทศไทยสูงขึ้นมากในแต่ละปี เพราะราคาสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ครัวเรือนไทยจึงต้องจ่ายเงินส่วนใหญ่ไปเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ความสามารถในการออมลดลง เมื่อรายได้ของผู้บริโภคไม่ได้สูงขึ้นในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงควรหาทางใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อสามารถเก็บออมเงินได้ในส่วนหนึ่ง
          (
2) การออมเป็นหน้าที่ของสมาชิกในครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนควรได้รับการฝึกฝนอบรมให้รู้จักประหยัดกิน ประหยัดใช้
          (
3) นึกถึงการออมทุกคราวที่ใช้จ่าย ครัวเรือนที่ดีควรวางแผนการออมเป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อสมาชิกในครัวเรือนจะต้องใช้จ่ายเงินออกไปควรเน้นให้คำนึงถึงการใช้จ่ายอย่างประหยัด ทุกคราวที่จะจ่ายเงินออกไป ควรกันเผื่อเงินออมไว้จำนวนหนึ่งเสมอ หัวหน้าครัวเรือนอาจใช้วิธีบังคับการออมทางอ้อม เช่น ให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนผ่านเข้าบัญชีของผู้บริโภคเพื่อควบคุมการใช้จ่าย โดยการเบิกถอนแต่ละคราวด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยให้มีการออมได้ดีกว่าการเก็บออมเงินสดไว้กับตัว จะใช้จ่ายไปอย่างง่ายดายปราศจากการไตร่ตรองยั้งคิด
 
2. การใช้บริการสถาบันการเงินเพื่อการออม
          เมื่อครัวเรือนมีเงินพอที่จะเก็บออมก็ควรจะตัดสินใจว่าจะนำออกเงินไปหาผลประโยชน์จากแหล่งใด หรืออาจให้กู้ยืมต่อไป ถ้าเราเก็บเงินสดไว้กับบ้านนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์งอกเงยในแง่ของเศรษฐกิจส่วนรวมแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายจากโจรผู้ร้ายอีกด้วย และการที่เราเก็บเงินสดไว้กับตัวย่อมทำให้เงินหายไปจากวงจร ทำให้ภาคเอกชนขาดแคลนเงินที่จะหมุนเวียนซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
          การเก็บออมทางสถาบันการเงินจะได้ผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เมื่อผู้ออมรู้จักเลือกบริการจากสถาบันการเงิน โดยคำนึงถึงหลักสำคัญ
3 ประการ คือ
          (
1) เงินออมนั้นมีความปลอดภัย มีการเสี่ยงที่จะสูญเสียน้อย เช่น ฝากเงินกับธนาคารออมสิน แม้จะได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็มีหลักประกันมั่นคง และควรกระจายการลงทุนไว้หลาย ๆ แห่ง เพื่อให้ปลอดภัยจากการสูญเสียได้มากที่สุด
          (
2) มีผลประโยชน์ตอบแทนจากการออมพอสมควร ถ้าเรานำเงินออมไปให้เพื่อนบ้านกู้ยืมโดยสัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 36 ก็จะเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยมากกว่าการฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งแม้จะให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่ก็มีความมั่นคงปลอดภัยสูงกว่า
          (
3) วิธีการเก็บออมนั้นควรจะมีสภาพคล่อง (Liquidity) สูง คือ สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เมื่อเราต้องการจะใช้ เพราะในอนาคตเราไม่แน่ใจว่าจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินเงินมาเมื่อใด อย่างเช่น ถ้าเราฝากเงินเผื่อเรียกไว้ 300,000 บาท เกิดความจำเป็นต้องใช้เงินเมื่อใดก็สามารถไปถอนเอามาใช้ได้ทันที อย่างนี้เรียกว่ามีสภาพคล่องสูง แต่ถ้านำเงิน 300,000 บาท นี้ไปซื้อตั๋วเงินไว้ หากต้องการใช้เงินอาจนำไปใช้ไม่ได้ทันที เป็นต้น
          เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจนำเงินออมไปลงทุนก็ต้องพบกับการเสี่ยง (
risk ) ตามปกติการลงทุนที่มีการเสี่ยงสูง ถ้าทำสำเร็จก็มักจะมีผลตอบแทนสูง และถ้ามีการเสี่ยงน้อยก็มักจะได้รับผลตอบแทนต่ำ เช่นถ้านำเงินออมไปฝากประจำในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการเสี่ยงน้อยจะได้ดอกเบี้ยในอัตราค่อนข้างต่ำและตายตัว แต่ถ้านำเงินออมไปเล่นแชร์ซึ่งมีการเสี่ยงสูง แต่ก็อาจได้ผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูง เป็นต้น
         
2.1 การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์
          ธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินที่สำคัญเพราะเป็นแหล่งที่ช่วยให้เกิดการระดมเงินออมของประชาชนไปสู่ธุรกิจได้อย่างมากมาย เป็นสถาบันการเงินในระบบอยู่ภายใต้ของเขตที่กฎหมายกำหนด และรัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะคอยควบคุมการปฎิบัติงานของธนาคาร เพื่อความปลอดภัยของเงินออมที่ประชาชนฝากไว้กับธนาคาร การนำเงินไปฝากธนาคารทำได้หลายประเภท คือ
          (
1) เงินฝากกระแสรายวัน เป็นเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนทันทีเมื่อทวงถาม ธนาคารพาณิชย์อาจยอมให้ผู้ฝากเงินกระแสรายวัน เบิกเงินเกินบัญชี ( overdraft ) เรียกย่อว่า โอ.ดี. (O.D.) ได้ ผู้ฝากเงินกระแสรายวันจึงอาจเป็นเจ้าหนี้ธนาคารก็ได้ หรือบางทีก็เป็นลูกหนี้ธนาคารเสียเองก็ได้ ถ้าหากธนาคารยอมให้ใช้ โอ.ดี.
          เงินฝากประเภทนี้ปกติจะไม่มีดอกเบี้ยให้ นักธุรกิจที่ต้องการจะใช้เช็ค หรือใช้บริการเงินกู้ประเภทเบิกเกินบัญชี จะต้องเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันขั้นต่ำต้องได้ไม่น้อยกว่าตามที่ธนาคารกำหนด เมื่อเราเปิดบัญชีนี้แล้ว เราก็ซื้อสมุดเช็คจากธนาคาร พร้อมทั้งชำระค่าอากรแสตมป์ตามอัตราที่ทางการกำหนด การจะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันทำได้โดยการเขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน จะจ่ายเงินใครก็ระบุชื่อ ระบุวันที่ และลงรายมือชื่อบนเช็คให้เรียบร้อย
          (
2) เงินฝากออมทรัพย์ หรือ เงินฝากสะสมทรัพย์ คือ เงินฝากที่เมื่อเปิดบัญชีแล้วจะฝากครั้งละเท่าไรก็ได้ และจะถอนคืนเมื่อไรก็ได้ โดยธนาคารจะคิดดอกเบื้ยให้ตลอดเวลาที่เงินยังอยู่ในบัญชี เป็นเงินฝากระยะสั้น ๆ เช่นเดียวกับเงินฝากกระแสรายวัน แต่โดยทั่วไปผู้ฝากเงินออมทรัพย์มักจะฝากเงินไว้ในบัญชีนานกว่าบัญชีกระแสรายวัน เพราะกรฝากออมทรัพย์มีลักษณะเป็นเงินออม ไม่ได้เป็นเงินสำหรับใช้หมุนเวียนทางการค้า
          การฝากเงินประเภทนี้ธนาคารบางแห่งกำหนดว่า ต้องมีเงินไปเปิดบัญชีครั้งแรก เจ้าหน้าที่ของธนาคารจะให้เราลงลายมือชื่อในบัตร เพื่อธนาคารจะเก็บไว้เป็นตัวอย่าง และเมื่อเราไปถอนเงินเจ้าหน้าที่จะได้เอาตัวอย่างลายมือชื่อของเรามาเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในใบถอนเงินว่าเหมือนกันหรือไม่ ดังนั้นการลงลายมือชื่อทุกครั้งควรลงลายมือชื่อให้เหมือนกับตัวอย่างที่ธนาคารเก็บไว้ในครั้งแรกที่ไปเปิดบัญชี การฝากเงินครั้งแรก เรียกว่า การเปิดบัญชี ธนาคารจะให้สมุดคู่ฝากมา ในสมุดจะบันทึกรายละเอียดชัดเจนว่า ฝากเมื่อไร จำนวนเงินเท่าไร ต่อไปเมื่อมาติดต่อกับธนาคารจะต้องนำสมุดคู่ฝากมาด้วย การฝากเงิน เจ้าหน้าที่ธนาคารจะออกใบรับเงินให้ เมื่อฝากหรือถอนเงินทุกครั้งนักเรียนควรดูยอดเงินในสมุดคู่ฝากว่าฝากเงินเมื่อไร จำนวนเงินเท่าไร ต่อไปเมื่อมาติดต่อกับธนาคารจะต้องนำสมุดคู่ฝากมาด้วย การฝากเงินเจ้าหน้าที่จะออกใบรับเงินให้ เมื่อฝากหรือถอนเงินทุกครั้งนักเรียนควรดูยอดเงินในสมุดคู่ฝากว่าเพิ่มหรือลดลงถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ปัจจุบันธนาคารมีบริการถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มได้ด้วย
          (
3) เงินฝากประจำ เป็นเงินฝากที่ต้องตกลงกำหนดเวลาฝากที่แน่นอนไว้กับธนาคาร ผู้ฝากจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงกันก็ต่อเมื่อฝากไว้ครบตามกำหนดมาแล้วเท่านั้น การฝากเงินประเภทนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า เงินฝากชนิดจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา ( time deposit ) และผู้ฝากจะต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับด้วย
          การฝากประเภทนี้หากฝากเงินไม่ครบ
3 เดือน จะไม่ได้ดอกเบี้ย ดังนั้น ถ้านักเรียนมีความจำเป็นต้องใช้เงินอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ก็ไม่ควรฝากประเภทนี้ ควรฝากประเภทออมทรัพย์ เพราะธนาคารจะคิดดอกเบี้ยให้ทุกวัน การนำเงินไปฝากประจำครั้งแรก บางธนาคารกำหนดว่าจะต้องมีเงินฝากเปิดบัญชี 1,000 บาทส่วนครั้งต่ออาจฝากครั้งละ 100-200 บาทก็ได้ เมื่อเปิดบัญชีธนาคารจะให้สมุดเงินฝากแก่เราเล่มนึง เช่นเดียวกับการฝากเงินประเภทอื่น ส่วนระเบียบการต่าง ๆ ก็คล้ายกับการฝากเงินออมทรัพย์ เช่น การฝากเงินครั้งแรกต้องลงลายมือชื่อในบัตรเป็นตัวอย่าง การย้ายที่อยู่ต้องแจ้งให้ธนาคารทราบทุกครั้ง
          (
4) เงินฝากสินมัธยัสถ์ การฝากเงินประเภทนี้เป็นการฝากเงินโดยสะสมไว้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ต้องการจะเก็บออมไว้เป็นค่าเล่าเรียนบุตรหลาน จะเก็บออมไว้สร้างบ้าน จะเก็บออมไว้ซื้อรถไถนา เป็นต้น และผู้ฝากแน่ใจว่าจะสามารถกันเงินส่วนหนึ่งไม่ว่ะเป็น 100 บาท 500 บาท หรือ 1000 บาท ก็ตามเข้าธนาคารได้สม่ำเสมอทุกเดือนก็ควรเปิดบัญชีเงินฝากประเภทสินมัธยัสถ์กับธนาคาร เช่นวงเงิน 500 บาท ถ้าเราเปิดบัญชีวันแรก วันที่ 1 ของเดือน เดือนต่อ ๆไป จะต้องนำเงิน 500 บาท มาฝากธนาคารภายใน วันที่ 1 ถ้าเราของเปิดบัญชี 3 ปี หากสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ตลอดเวลา 3 ปี นั้น นอกจากธนาคารจะให้ดอกเบี้ยทบต้นแล้วยังให้เงินรางวัลอีกด้วยจากการที่ทำได้ตามข้อตกลง เงินฝากประเภทนี้ธนาคารเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น เงินฝากมัธยัสถ์ เงินฝากสินมัธยะ เงินฝากสินทวี เงินฝากเพื่ออนาคต เป็นต้น
         
2.2 การออมผ่านสถาบันการเงินอื่น  นอกจากการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ เราอาจเก็บออมผ่านสถาบันการเงินอื่นโดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
          (
1) การฝากเงินกับบริษัทเงินทุน สถาบันการเงินที่ประกอบการธุรกิจประเภทเงินทุน ได้แก่ บริษัทเงินทุนเป็นสถาบันการเงินที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด บริษัทเงินทุนแตกต่างกับ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กล่าวคือ บริษัทเงินทุนจัดหาทุนเพื่อบุคคลอื่น ซึ่งกระทำโดยการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไป วิธีการกู้ยืมที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ บริษัทเงินทุนต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ที่นำเงินมาฝากเป็นหลักฐานในการกู้ยืม ส่วนบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้กู้ยืม โดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ (บ้านหรือที่ดิน) หรือรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก การที่บริษัทจะสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ แสดงว่าบริษัทจะต้องมีเงินทุนเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต้องระดมเงินทุนด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เสนอขายต่อประชาชนทั่วเหมือนบริษัทเงินทุนทั้งหลาย แต่ระยะเวลาของตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเครดิตฟองซิเอร์มีอายุยาวนานกว่า 5 ปีขึ้นขึ้นไป แทนที่จะเป็น 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี เหมือนกับบริษัทเงินทุน ทั้งนี้เพราะเงินกู้ด้วยวิธีรับจำนองหรือซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินกู้ระยะยาว
          (
2) การซื้อพันธบัตรรัฐบาล เมื่อรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจต้องการกู้เงินไปใช้จ่ายตามโครงการบางโครงการ เช่น สร้างถนน สร้างเขื่อน ขยายการผลิตไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เหล่านี้ รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจจะนำพันธบัตรออกขายให้แก่สถาบันการเงินหรือประชาชนทั่วไป โดยให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ซื้อพันธบัตรทุกปีจนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน เนื่องจากรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้กู้ และมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน พันธบัตรรัฐบาลจึงมีความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเที่ยบกับหลักทรัพย์ชนิดอื่น ๆ และผู้ถือพันธบัตรรัฐบาล จะขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรรัฐบาลที่ถืออยู่ได้โดยการลดดอกเบี้ยลงตามส่วน นักเรียนจะเห็นได้ว่าการลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลแทนการเก็บเงินไว้ในรูปเงินสด เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และผู้ออมก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่แน่นอน
          (
3) การซื้อขายประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นสัญญาระบุเงื่อนไขที่บริษัทผู้รับประกันตกลงจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกัน โดยผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ตามปกติบุคคลทั่วไปจะต้องดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดของตน และสมาชิกในครัวเรือน กล่าวคือ ทุกคนจะต้องมีสุขภาพดี การศึกษาดี มีรายได้ดี มีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ และเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน จึงต้องจำกัดการเสี่ยงภัยที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนและของสมาชิกในครัวเรือน ส่วนผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องลงทุนด้วยกำลังกายและกำลังทรัพย์ จึงต้องจำกัดการเสี่ยงภัยที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การลงทุนของตน เพราะถ้าเกิดภัยพิบัติกิจการที่ดำเนินการอยู่ก็อาจะต้องสะดุดหยุดลง และต้องประสบกับความเสียหายล้มละลาย เราจึงต้องหาทางจำกัดการเสี่ยงภัยโดยวิธีการต่าง ๆ และวิธีการโอนความรับผิดชอบให้ผู้อื่นก็คือ การประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย
          วิธีการการเสี่ยงภัย เนื่องจากเราไม่ต้องการให้มีภัยเกิดขึ้น ครัวเรือนจึงต้องหาทางจำกัดการเสี่ยงภัยเสียก่อนที่จะเกิดขึ้น โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
          (
1) จำกัดการเสี่ยงภัยด้วยตนเอง เป็นวิธีการจำกัดการเสี่ยงภัยป้องกันการเสียหายโดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
         
1.1 มีความระมัดระวัง ครัวเรือนอาจเป็นการป้องกันภัยไม่ใช้เกิดแก่สมาชิกในครัวเรือน โดยหมั่นตรวจตราความเรียบร้อยของสายไฟฟ้า ถังแก๊ส ฯลฯ ส่วนนักธุรกิจก็อาจหาวิธีป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับโรงงาน หรือสำนักงานของตนเองทั้งทรัพย์สิน และพนักงานลูกจ้าง
         
1.2 จัดหาเครื่องมือป้องกันภัย ครัวเรือน สำนักงาน และโรงงานผลิต สามารถจัดซื้อเครื่องมือป้องกันภัยตระเตรียมล่วงหน้า เช่น เครื่องดับเพลิง เครื่องสัญญาณแจ้งภัย เป็นต้น
         
1.3  สะสมเงินออม เพื่อเตรียมไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น แต่การสะสมเงินอาจทำได้เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายเท่านั้น ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ แม้จะมีเงินเหลือเก็บออมไว้ได้บ้าง ก็คงมีจำนวนไม่มากพอท่ะนำไปชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้
          (
2) จำกัดการเสี่ยงภัยโดยโอนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น เนื่องจากการจำกัดการเสี่ยงภัยโดยตนเองยังมีขีดจำกัดอยู่มากจึงนิยมจำกัดการเสี่ยงภัยของตนเองและครัวเรือน ด้วยการมอบให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายเมื่อตาย ชราภาพ พิการ ประสบอุบัติเหตุ หรือมีภัยเกิดแก่ทรัพย์สิน โดยเลือกประเภทการประกันภัยให้เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการส่งเบี้ยประกัน
 
         ความหมายของการประกันชีวิต โดยทั้วไปผู้ทำประกันชีวิตต้องออมทรัพย์บางส่วนของตนส่งบริษัทผู้รับประกันชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต เมื่อชราภาพหรือพิการหรือเสียชีวิต จะได้รับเงินจำนวนหนึ่งไว้เลี้ยงตนหรือสมาชิกในครัวเรือน ดังนั้นเราจึงอาจให้ความหมายของการประกันชีวิตไว้ดังนี้
          การประกันชีวิต หมายถึง การประกันลมหายใจ คือ เมื่อทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิตแล้วเกิดตายไป คือไม่หายใจ ก็ให้ทางบริษัทประกันชีวิตจ่ายเงินให้แก่ภรรยาหรือบุตรของคนที่ทำประกันชีวิต ซึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกัน ( ผู้ที่ตกลงทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต)
          การประกันชีวิต หมายถึง การทดแทนการสูญเสียรายได้ ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งสามีทำประกันชีวิตไว้ โดยใส่ชื่อภรรยาและบุตรผู้รับประโยชน์ (จะได้รับเงินจากบริษัทประกันชีวิต เมื่อผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย) เมื่อสามีตายทำให้ครอบครัวขาดรายได้ บริษัทประกันชีวิตก็จ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ ถือว่าเป็นการชดเชยรายได้แก่ครอบครัวนี้ 
          การประกันชีวิต หมายถึง แผนการที่คนกลุ่มหนึ่งร่วมมือกันแบ่งเบาความเดือนร้อนด้านการเงินที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของบุคคลในกลุ่ม เนื่องมาจากความตายของหัวหน้าครอบครัว
          ประโยชน์ของการประกันชีวิต  เนื่องจากการประกันชีวิตเป็นวิธีการี่ดีในการสร้างความมั่นคงให้แก้สมาชิกในครัวเรือน เป็นการเก็บออมที่ได้รับผลประโยชน์งอกเงย การประกันชีวิตจึงก่อประโยชน์ทั้งต่อครัวเรือน เศรษฐกิจ และ สังคมของประเทศชาติ คือ
          (
1) ประโยชน์ต่อครัวเรือน ถ้าบังเอิญหัวหน้าครัวเรือนเคราะห์ร้ายถึงแก่ความตายก่อนเวลาอันสมควร สมาชิกในครัวเรือนต้องประสบความลำบาก ดังนั้นหัวหน้าครัวเรือนที่รักและเป็นห่วงสมาชิกในครัวเรือนของตน จึงประกันชีวิตไว้ ถ้ามีอันเป็นไปก็ให้บริษัทประกันชีวิตชดใช้เงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้ภรรยาและบุตรสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาญาติพี่น้อง
          (
2) ประโยชน์ต่อธุรกิจ เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่นคงหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความมั่นคงของธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าประธานหรือผู้จัดการงานธุรกิจเป็นคนมีความชำนาญสูง ธุรกิจก็งอกงาม ถ้าผู้จัดการเกิดเจ็บ ชรา และตาย ผลก็คืออาจทำให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการ ถ้าต้องการป้องกันไว้เสียก่อนก็ควรมีการประกันชีวิตไว้ เพื่อทำให้ผู้สืบทอดธุรกิจ หรือผู้ที่มีหุ้นส่วนในธุรกิจสามารถมีทุนรอนในการดำเนินธุรกิจนั้นต่อไปได้ และจะเป็นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย การประกันชีวิตในลักษณะนี้ เรียกว่า การประกันธุรกิจ
          การประกันชีวิตส่งผลให้เกิดการออมทรัพย์และเบี้ยประกัน (หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันจ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิต) ที่บริษัทประกันชีวิตเก็บมาช่วยออมไว้นั้น นำไปลงทุนให้เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจ และการพัฒนาบ้านเมือง จึงเห็นได้ว่าไม่มีธุรกิจใดจะให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมได้มากเท่ากับการประกันชีวิต ให้ทั้งการคุ้มครองและช่วยสร้างหลักฐานของประชาชน
          (
3) ประโยชน์ต่อสังคม การประกันชีวิตมีส่วนช่วยในการสะสมทุนเพื่อพัฒนาสังคม กล่าวคือ เงินเบี้ยประกันที่เราจ่ายให้แก่บริษัทประกันชีวิต เมื่อนำมารวมกันจะเป็นเงินก้อนใหญ่ สามารถให้เอกชน หรือรัฐบาลกู้ยืมได้ ยิ่งกว่านั้นเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับจากเราเป็นเงินที่ฝากระยะยาว เหมาะสมที่จะให้กู้ยืมไปลงทุนได้ ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตนับว่าเป็นสถาบันการเงินที่สำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศอีกด้วย
          การประกันชีวิตช่วยให้เกิดสันติสุข และความปลอดภัยในสังคม คนเราต้องการมีชีวิตอย่างผาสุกและปลอดภัย ไม่ต้องห่วงกังวลถึงอนาคต การประกันชีวิตเป็นการชดเชยการสูญเสียรายได้อันเนื่องมาจากการเสียชีวิต พิการ ชรา เป็นการประกันการคงอยู่ของรายได้ เพื่อเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต นั่นก็คือ เป็นการประกันความสุขและความมั่นคงปลอดภัยของตนนั่นเอง
          ประเภทของการประกันชีวิต การประกันชีวิตอาจทำได้หลายประเภทด้วยกันตามความต้องการของผู้เอาประกัน คือ
  
        (1) การประกันแบบกำหนดเวลา การประกันแบบนี้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันในระยะเวลาของกรมธรรม์(สัญญาประกันชีวิต) เท่านั้น คือระบุไว้ว่าจะประกัน 1 ปี หรือ 3 ปี หรือ 5 ปี หรือ 10 ปี ถ้าผู้ประกันไม่ตายในระยะเวลาของกรมธรรม์ ผู้เอาประกันจะไม่ได้รับอะไรเลย แม้แต่เบี้ยประกันที่จ่ายแก่บริษัทประกันชีวิตไปแล้ว
          (
2) การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เป็นกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน เมื่อตายบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ทายาท บริษัทจะบอกเลิกสัญญาไม่ได้ การประกันชีวิตแบบตลอดชีพนี้ให้ความคุ้มครองจนตาย หรือมีอายุครบ 100 ปี การชำระเบี้ยประกันก็จะจ่ายให้แก่บริษัทไปเรื่อย ๆ  จนผู้เอาประกันมีอายุ 90 ปี เมื่อถึงตอนนี้ทางบริษัทจะยินยอมให้ไม่ต้องชำระต่อไปอีก แม้จะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม ไม่ว่าผู้เอาประกันจะตายเมื่อใด บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินคืนให้ และถ้ามีเงินปันผลเกิดขึ้นก็จะคืนให้ด้วย การประกันชีวิตแบบตลอดชีพนี้ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันตายเท่านั้น ผู้รับเงินคือทายาทของผู้เอาประกัน
          (
3) การประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันที่ผู้เอาประกันตายหรือไม่ก็ตาม บริษัทประกันชีวิตจ่ายเงินคืนให้ทั้ง 2 กรณี เช่น นาย ก อายุ 30 ปี ทำการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิตเป็นเงิน 1,000,000 บาท และจ่ายเบี้ยประกันชีวิต 30 ปี ปีละ 30,000 บาท สมมุติว่า นาย ก ตาย เมื่ออายุ 50 ปี คือจ่ายดอกเบี้ยประกันไปได้ 20 งวด ทางบริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ 1,000,000 บาท หรือ นาย ก ยังคงมีชีวิตอยู่จนถึง 60 ปี ทางบริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินคืนให้นาย ก 1,000,000 บาท การประกันแบบสะสมทรัพย์นี้เป็นที่นิยมมากกว่าแบบอื่น แม้เบี้ยประกันจะแพงแต่ผู้เอาประกันจะได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเสียชีวิตไปก่อนครอบกำหนดสัญญา หรือมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญาก็ตาม
          (
4) การประกันแบบบำนาญ เป็นการประกันที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันไม่สามารถมีรายได้เป็นของตัวเอง การประกันแบบบำนาญหรือการประกันแบบรายได้ประจำนี้ ไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย เนื่องจากผู้ประกันต้องจ่ายเบี้ยประกันทั้งก้อน หรือจ่ายเพียงไม่กี่งวดให้ครบเท่าทุนประกัน
          นอกจากนี้ยังมีการประกันอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการประกันสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้บาดเจ็บ พิการ หรือถึงแก่ความตาย และการประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการประกันแบบคุ้มครองสุขภาพหรือการเจ็บป่วยให้แก่ผู้เอาประกัน คู่สมรส และบุตรของผู้เอาประกันที่มีอายุไม่เกิน
20 ปี โดยบริษัทผู้รับประกันจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาโรคของผู้เอาประกันและสมาชิกการประกันทั้ง 2 แบบนี้ปกติจะเป็นการประกันระยะสั้น (ปกติ 1 ปี) ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นภายในระยะเวลาของสัญญา บริษัทผู้รับประกันก็จะชดใช้ความเสียให้ แต่ถ้าความเสียหายไม่เกิดขึ้นบริษัทผู้รับประกันก็จะไม่คืนเบี้ยประกันได้จ่ายไป
          โดยสรุป การออมในความหมายแบบใดก็ตามก็คือ เงินรายได้ส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายแล้ว เงินออมนี้จะถูกนำไปลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์เพิ่มเติมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น บุคคลที่มีการวางแผนที่ดีในการใช้จ่ายรายได้หามาได้นั้นเป็นหนทางอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดการออม แต่การออมของบุคคลนั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับอิทธิพลของอัตราดอกเบี้ย ระดับรายได้ของเขา และบริการของสถาบันการเงินต่าง ๆ อย่างเช่น บริการเอทีเอ็ม ที่ลูกค้าธนาคารพาณิชย์นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น การที่จะตัดสินใจเก็บออมผ่ายสถาบันการเงินใดเราก็ควรจะได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราผลตอบแทนความปลอดภัยของเงินออม สภาพคล่องของทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจได้ถูกต้องยิ่งขึ้น 

 3. แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน 
          ตามปกติครัวเรือนซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจ (
economic unit) ที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศจะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ เมื่อมีรายได้ เข้ามาสมาชิกในครัวเรือนก็จะใช้จ่าย ดำรงชีพ ที่เหลือก็จะ เก็บออม ไว้หาประโยชน์งอกเงย ถ้าเราสามารถจัดกิจกรรมทั้ง 3 ได้สอดคล้องต้องกัน ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในครัวเรือนก็จะอยู่ดีกินดี มีอนาคตก้าวหน้า และมีผลให้เศรษฐกิจส่วนรวม ของประเทศเจริญก้าวหน้าไปด้วย นอกจากนี้การประกอบอาชีพให้มีรายได้สูงขึ้น นับว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจสำคัญ เนื่องจากความต้องการของคนเราไม่ได้หยุดอยู่ที่การมีอาหารพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มียาสำหรับรักษายามเจ็บป่วย มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มห่อหุ้มร่างกาย หรือมีบ้านพอคุ้มแดดคุ้มฝนเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ ในปัจจุบันมนุษย์ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันอีกด้วย เราจึงมีความต้องการเพิ่มพูนรายได้ ต้องการแหล่งทุนเพื่อขยายกิจการของเราให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
          การประกอบอาชีพ เราอาจจำแนกการประกอบอาชีพของครัวเรือนในประเทศไทยออกได้ดังนี้
          (1) อาชีพอิสระ เป็นการประกอบการงานเพื่อรายได้โดยจัดและประกอบด้วยตนเอง หรือ กลุ่ม โดยทั่วไปอาชีพอิสระแบ่งออกตามระดับการใช้ความรู้และความสามารถในการประกอบอาชีพได้ 3 กลุ่ม คือ
          กลุ่มที่
1 กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะหรือความรู้ในระดับปริญญา หรือ อนุปริญญา เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร สถาปนิก วิศวกร ทนายความ ผู้ตรวจบัญชี เป็นต้น
          กลุ่มที่
2 กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะหรือความรู้ในระดับที่ต่ำกว่าอนุปริญญา เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องยนต์ ช่างวิทยุ ช่างเขียนแบบ ช่างตัดเสื้อ ช่างตัดผม ช่างเสริมสวย ช่างเย็บหนัง เป็นต้น
          กลุ่มที่
3 กลุ่มอาชีพที่ไม่ต้องใช้ทักษะหรือความรู้ในวิชาชีพอย่างหนึ่งใดโดยเฉพาะ เช่น  ผู้ประกอบการ ขายของชำ ขายข้าวแกง ขายผลไม้ ขายหนังสือ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ขับรถรับจ้าง หาบเร่แผงลอย เป็นต้น
          การประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการผลิต การขายและการบริการซึ่งผู้ประกอบการอาจเลือกทำเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทำหลายส่วนก็ได้
          (
2) อาชีพรับจ้างและแรงงาน เป็นการประกอบการงานเพื่อหารายได้โดยรับจ้างหรือใช้แรงงานในสถานประกอบการของนายจ้าง จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
          กลุ่มที่
1 กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะหรือความรู้ในวิชาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ เช่น ช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุ ช่างตัดเสื้อ ช่างเย็บหนัง ช่างเสริมสวย เป็นต้น
          กลุ่มที่
2 กลุ่มอาชีพที่ไม่ใช้ทักษะหรือความรู้ในวิชาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ โดยทั่วไปมักเรียกว่า กลุ่มกรรมกร หรือผู้ใช้แรงงาน เช่น อาชีพรับจ้างแบกหาม ลูกจ้างที่ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม กรรกรก่อสร้างต่าง ๆ เป็นต้น
          การประกอบอาชีพของคนเราจะมีความสัมพันธ์และมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อทุกคนสามารถประกอบอาชีพได้ผลดีรายได้สูง เศรษฐกิจส่วนก็จะขยายตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่จะได้แก่ การประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การตลาด และการบริการต่าง ๆ
          แหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ 
เงินทุน หมายถึง จำนวนเงินที่มีไว้สำหรับนำไปซื้อสิ่งของเพื่อผลิตสินค้าออกขาย เงินทุนนับว่ามีความสำคัญในการประกอบอาชีพของคนเรา เพราะไม่ว่าเราจะทำมาหากินทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือให้บริการต่าง ๆ ก็ตามย่อมต้องการเงินทุนไปลงทุน เช่น เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบ ศัตรูพืช เครื่องทุ่นแรง เจ้าของโรงงานทอผ้าก็ต้องซื้อเครื่องทอผ้า เตาย้อม เส้นด้าย สีย้อม เป็นต้น แหล่งเงินทุนในปัจจุบันมี
2 ลักษณะ
          (
1) แหล่งเงินทุนนอกระบบ เป็นแหล่งเงินทุนที่ไม่มีสถาบันที่เป็นทางการ เกิดขึ้นตามความจำเป็นและความต้องการที่จะกู้ยืมกัน กฎเกณฑ์ในการกู้ยืมไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้กู้และผู้ให้กู้ และผู้ใช้กู้มักเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูง เช่น การกู้ยืมระหว่างเพื่อนบ้าน การเล่นแชร์ การซื้อขายเงินผ่อน เป็นต้น
          (
2) แหล่งเงินทุนในระบบ เป็นแหล่งเงินทุนที่มีสถาบันที่เป็นทางการ และจะต้องดำเนินธุรกิจไปตามระเบียน และตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ เช่น การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บรรษัทเงินทุน อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
          ปัจจุบันเรามีแหล่งเงินทุนทั้งในและนอกระบบกระจายออกไปทั่วประเทศ ในท้องถิ่นชนบทยังไม่มีแหล่งเงินทุนในระบบแพร่หลาย และประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนในระบบ ดังนั้น ชาวไร่ ชาวนา พ่อค้า ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เป็นต้น ส่วนคนในเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนในระบบก็มักกู้ยืมจากธนาคารจากธนาคารพาณิชย์สาขาต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในด้านสินเชื่อเพื่อการเกษตร
          การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
          การสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทเงินทุน เป็นต้น เมื่อระดมเงินออมจากประชาชนที่นำเงินมาฝากก็จะนำเงินเหล่านี้ให้ประชาชนกู้ยืมไปจ่าย เพื่อใช้เพื่อการบริโภคและเพื่อการลงทุนขยายกิจการ การให้กู้ยืมเป็นเรื่องของเครติด และหนี้ เช่น เมื่อ นาย ก ทำสัญญากู้เงินจากธนาคารโดยนำโฉนดที่ดินไปจำนอง ทางด้านธนาคารจะเป็น ผู้ให้เครดิต หรอให้สินเชื่อ มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ นาย ก เป็นผู้ใช้เครดิต มีฐานะเป็นลูกหนี้ธนาคาร เนื่องจากที่สถาบันการเงินนำมาให้กู้ยืมเป็นเงินของประชาชนที่นำมาฝากไว้เป็นส่วนใหญ่ สถาบันการเงินจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการกู้เงินตามนโยบายของแต่ะสถาบันการเงินที่กำหนดไว้
          (
1) หลักเกณฑ์การให้กู้ยืม การที่เอกชนหรือสถาบันการเงินจะตัดสินใจให้ผู้ใดผู้หนึ่งกู้เงิน ผู้ที่จะใช้เครดิตจะต้องมีความมั่นใจว่าจะได้รับเงินที่ให้กู้ไป และการที่จะเกิดความมั่นใจขึ้นได้ สถาบันการเงินมักจะใช้หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาให้กู้ยืม 3 ประการ คือ
         
1.1 ด้านอุปนิสัยของผู้ขอกู้ อุปนิสัยของผู้ขอกู้เป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาในอันดับแรก เพราะการให้เครดิตเป็นการเสี่ยงอยู่มาก ผู้ให้เครดิตจึงต้องพิจารณาถึงความขยันขันแข็ง ความซื่อสัตย์ ประวัติ ความเป็นมา และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ขอกู้ การเข้าถึงพฤติการณ์ในอดีตของลูกหนี้ จะช่วยให้ตัดสินใจปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
         
1.2 ด้านฐานะและรายได้ของผู้ขอกู้ สมมุติว่าผู้ขอกู้มีอุปนิสัยดี เชื่อถือได้ ข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือฐานะและรายได้ของผู้ขอกู้ ดูว่าเขาประกอบอาชีพอะไร มั่นคงหรือไม่ ถ้าเป็นธุรกิจก็ควรจะดูรายงานแสดงสถานะการเงิน เพื่อคาดหมายรายได้ในอนาคต ถ้าเห็นว่าผู้ขอกู้ไม่มีทางที่จะหารายได้มาชำระหนี้สินได้ก็มักจะไม่ให้กู้ แม้ว่าผู้นั้นจะมีหลักทรัพย์มาประกันอย่างเพียงพอก็ตาม ในทางตรงกันข้ามผู้ขอกู้มีฐานะและรายได้มั่นคงถึงแม้จะมีหลักทรัพย์มาประกันไม่เพียงพอก็อาจให้กู้ได้ เพราะฐานะและรายได้ของผู้ขอกู้ย่อมสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหนี้ได้ดี
         
1.3 หลักทรัพย์หรือผู้ค้ำประกัน หลักทรัพย์ของผู้มาติดต่อขอเครดิต เช่น บ้านเรือน ที่ดิน และทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ให้กู้จะต้องเปรียบเทียบหลักทรัพย์กับหนี้สินที่ผู้ก้มีอยู่ ถ้าหนี้สินมีน้อย แต่หลักทรัพย์มีมาก ก็นับว่าให้ความมั่นใจแก่ผู้ให้กู้ได้ดี ถ้าเป็นการกู้ยืมไปทำทุน ทำการค้าก็ต้องดูว่าเขามีทุนพอที่จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ในกรณีไม่มีหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ ก็ควรมีบุคคลหรือธนาคารเป็นผู้ค้ำประกัน ควรจะพิจารณาฐานะของผู้ค้ำประกันว่าเชื่อถือ หรือ ไว้วางใจได้เพียงใด ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถใช้เงินคืน ก็สามารถไล่เบี้ยเอาจากผู้ค้ำประกันได้
          ในการกู้ยืมเงินไปลงทุนตามโครงการขนาดใหญ่ สถาบันการเงินอาจพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ประกอบการให้กู้ยืมเงิน เช่น ความสามารถในการประกอบการของโครงการ ผลตอบแทนทางการเงินที่คาดว่าจะได้รับความสามารถในการชำระเงินต้น และดอกเบี้ยคืน เป็นต้น
          (
2) การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ การให้กู้ยืมนับเป็นภารกิจที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ เราอาจกู้ยืมเงินจากธนาคารไปลงทุนทำกิจการต่าง ๆ เช่น เกษตรกรอาจกู้ยืมเงินไปซื้อที่ดิน ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช รถไถนา เป็นต้น นักธุรกิจอาจกู้ยืมไปซื้ออาคารสถานที่ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ที่นิยมทำกันมากอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
          (
2.1) การกู้โดยตรง (lone) ได้แก่ การกู้เงินโดยรับเงินไปทั้งก้อน เช่น กู้ 100,000 บาท ก็รับเต็มจำนวน 100,000 บาท ทันที่ในวันที่ทำสัญญา ข้อดีของการกู้แบบนี้ก็คือ ธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ยทบต้น แต่มีข้อเสียคือ ถ้าเราตั้งใจจะใช้จริง ๆ เพียง 80,000 บาท แต่กู้มา 100,000 บาท ก็ต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินกู้ทั้งหมด 100,000 บาท จะเห็นว่าส่วนที่เกินมา 20,000 บาท ก็ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย
          (
2.2) การกู้โดยเบิกเงินเกินบัญชี (overdraft) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กู้ โอ.ดี. เราจะกู้เงินประเภทนี้จะต้องเป็นลูกค้าของธนาคารโดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ผู้กู้เงินจะกำหนดวงเงินกู้กับธนาคารว่าธนาคารยินดีจะให้เบิกเกินบัญชีเงินบัญชีได้เท่าใด เช่น ฝากเงินไว้ 100,000 บาท และขอเบิกเงินเกินบัญชีอีก 200,000 บาท ดังนั้น ผู้กู้เบิกได้เต็มที่ 300,000 บาท การกู้ โอ.ดี. มีข้อดีคือ ตราบใดที่ยังไม่เบิกเงินมาก็ยังไม่ต้องเสียดอกเบี้ย สมมุติว่า เรากำหนดวงเงินกับธนาคารว่าจะของเปิด โอ.ดี. จำนวน 200,000 บาท แต่เบิกมาใช้แค่ 90,000 บาท ดังนั้น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินที่เบิกไปจริง ๆ 90,000 บาท แต่มิได้คิดจากวงเงิน 200,000 บาท
          (
3)การกู้ยืมจากโรงรับจำนำ โรงรับจำนำเป็นสถาบันการเงินขนาดเล็ก ตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชนทั่วไป เพื่อรับจำนำสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งของเล็กและของใหญ่ และของที่ใช้แล้ว ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และขาดเงินหมุนเวียนชั่วคราวที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ค่ารักษาพยาบาล หรือเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการค้ารายย่อย ปัจจุบันโรงรับจำนำเริ่มมีบทบาทในฐานะเป็นแหล่งเงินในระบบมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อย เมื่อต้องการเงินหมุนเวียนระยะสั้น ก็จะมาใช้บริการจากโรงรับจำนำ
          (
3.1) การจำนำ การขอกู้ยืมจากโรงรับจำนำผู้จำนำจะต้องนำทรัพย์สินมีค่า เช่น เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องเพชร นาฬิกา ปากกา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้สำนักงาน และอื่น ๆ มาส่งมอบแก่ผู้รับจำนำเพื่อประกันการชำระหนี้ สำหรับวงเงินที่โรงรับจำนำจะให้กู้ยืมขึ้นอยู่กับราคาเดิมของทรัพย์สินที่จำนำ สภาพของทรัพย์สิน จำนวนปีที่ใช้งานและสภาพอื่น ๆ ซึ่งทางโรงรับจำนำจะเป็นผู้กำหนด โดยทั่วไปพวกเครื่องทองรูปพรรณก็จะได้ราคาประมาณร้อยละ 60-80 ของราคาเนื้อทองคำ ส่วนทรัพย์สินอื่นก็อาจได้ราคาเพียงร้อยละ 30 – 50 ของราคาทรัพย์สินที่จำนำ
          (
3.2) อัตราดอกเบี้ย การนำสิ่งของไปจำนำ ทางโรงรับจำนำจะคิดดอกเบี้ยจากผู้จำนำแตกต่างกันไปตามวงเงินที่กู้ และโรงรับจำนำของเอกชนกับโรงรับจำนำของทางราชการจะคิดดอกเบี้ยต่างกัน ปกติอัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำของทางราชการจะต่ำกว่าโรงรับจำนำของเอกชน
          (
3.3) ช่วงเวลาในการจำนำ โรงรับจำนำทั่วไปจะให้กู้ระยะสั้น ถ้าหากต้องการจะยืดระยะเวลาการกู้ยืม ผู้กู้ยืมจะต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในระยะเวลาที่ผ่านมาเสียก่อน และถ้าผู้กู้ไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ทางโรงจำนำจะยึดสิ่งของที่ผู้กู้จำนำไว้เพื่อขายทอดตลาด
          นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สถาบันทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ยังให้บริการด้านการซื้อตั๋วลดตั๋วเงิน การออกหนังสือค้ำประกันให้แก่นักธุรกิจ การให้สินเชื่อเพื่อการศึกษา การใช้สินเชื่อเพื่อการประกอบวิชาชีพอิสระ การโอนเงิน และอื่น ๆ ให้แก่ลูกค้าทั่วไปของธนาคาร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบอาชีพของประชาชนอีกด้วย
4. การคลังรัฐบาลในชีวิตประจำวัน
          การคลังรัฐบาลเป็นการจัดหาเงินของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากร และค่าธรรมเนียมจากประชาชน แล้วนำมาใช้จ่ายตามหน้าที่ของรัฐบาลที่มีต่อประเทศชาติ เช่น จัดสร้างถนนหนทาง จัดบริการความปลอดภัยทั้งในและนอกประเทศ จัดการด้านการศึกษา จัดระบบการเงินของประเทศ เป็นต้น การคลัง รัฐบาลจึงมีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ
         
4.1 การเสียภาษีอากรให้รัฐ ภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายบริหารและพัฒนาประเทศ ตามปกติรัฐบาลจะเก็บภาษีตาม หลักประโยชน์ คือ ผู้ใดได้รับประโยชน์จากการบริการของรัฐบาลมากก็ต้องเสียภาษีมาก ผู้ใดได้รับประโยชน์น้อยก็เสียภาษีน้อย และตามหลักความสามารถ คือ ผู้ใดมีความสามารถในการเสียมาก ( พิจารณาจากรายได้ รายจ่าย และทรัพย์สินที่มีอยู่) ก็ต้องเสียภาษีมาก ผู้ใดมีความสามารถน้อย ก็เสียภาษีน้อย เงินภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บไป รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชนรวมทั้งผู้เสียภาษีอากรด้วย รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเสียภาษีอากรเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของประชาชน เพื่อให้รัฐบาลมายได้มากพอที่จะใช้จ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า 
         
4.2 การพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตหมายถึงชีวิตที่มีความสุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจตามสมควรแก่อัตภาพ สอดคล้องกับทรัพยากร สภาพแวดล้อม ไม่เป็นภาระและก่อให้เกิดปัญหาในสังคม คุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ มีคนจำนวนมากยังอยู่ในภาวะยากจนคลาดแคลนในปัจจัยยังชีพ รัฐบาลมีหน้าที่ให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านสุขภาพ พลานามัย การศึกษา สาธารณูปโภค อันเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันสินค้าและบริการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการโดยองค์การของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สินค้าและบริการ ดังต่อไปนี้
          (
1) สินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สินค้าและบริการชนิดนี้มีความจำเป็นต่อประชาชนส่วนรวม โดยจะมีคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการคือ
          (
1.1) เป็นสินค้าและบริการที่รัฐบาลใช้เงินงบประมาณจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ถนนหนทาง การชลประทาน การสื่อสาร การจัดการศึกษาภาคบังคับ บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น
          (
1.2) เป็นสินค้าและบริการที่รัฐบาลใช้เงินภาษีอากรมาจัดทำให้แก่ประชาชนทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าตอบแทน เช่น บริการด้านการป้องกันประเทศ โดยจัดให้กองทัพมีอาวุธยุทโธปรณ์ การจัดให้มีตำรวจเพื่อพิทักษ์สันติราษฏร์ การจัดให้มีกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ผู้พิพากษา ราชทัณฑ์ เป็นต้น การบริการเหล่านี้ประชาชนทุกคนจะได้รับโดยเท่าเทียมกัน
          (
2) สินค้าและบริการที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ธุรกิจบางอย่างมีความสำคัญต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม และมีความจำเป็นในด้านการพัฒนาประเทศ เช่นด้านการลงทุนสร้างเขื่อนต่าง ๆ การลงทุนสร้างทางหลวง ทางด่วนพิเศษ เป็นต้น แต่ด้วยเหตุที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องใช้ทุนจำนวนมหาศาลและได้รับผลตอบแทนคืนในระยะเวลานาน จึงมีเอกชนเข้ามาลงทุนในบางธุรกิจเท่านั้น ส่วนใหญ่รัฐบาลต้องเข้าดำเนินการเอง
          (
3) สินค้าและบริการประเภทสาธารณูปโภค ปกติประชาชนส่วนใหญ่ได้รับบริการด้านสาธารณูปโภคในราคาถูก เพื่อจะได้ใช้กันอย่างทั่วถึง เช่น บริการด้านโทรศัพท์ การขนส่ง ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น กิจการเหล่านี้ ถ้าให้เอกชนดำเนินการ อาจมุ่งผลกำไรสูงเกินไปจนผู้บริโภคที่ยากจนเดือดร้อน รัฐบาลจึงเข้าดำเนินการเสียเอง โดยตั้งราคาสินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ให้สูงเกินไป     
          สินค้าและบริการที่องค์การและรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยดำเนินการจัดทำ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค มีทั้งที่ให้เปล่าและที่ต้องเสียค่าตอบแทน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
หน่วยงานที่จัดทำ
สินค้าและบริการ
กระทรวงศึกษาธิการ
จัดการศึกษาภาคบังคับ มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และ อุดมศึกษา
กระทรวงสาธารณสุข
ให้บริการด้านสุขภาพอนามัย และการรักษาพยาบาล
บริษัทขนส่ง จำกัด
จัดบริการด้านการขนส่งทางบกทั่วประเทศ
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
จัดบริการรถประจำทางในกรุงเทพมหานคร
องค์การคลังสินค้า
จัดบริการขายปลีกสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน
องค์การค้าของคุรุสภา
จัดจำหน่ายอุปกรณ์การเรียนการสอน หนังสือ เครื่องแบบนักเรียน
การเคหะแห่งชาติ
จัดในเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชน
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
จัดการในด้านผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ให้บริการด้านข่าวสารการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยว
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ดำเนินการในเรื่องทางด่วนในกรุงเทพมหานคร
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
ติดตั้งและบริการโทรศัพท์ในเมือง ทางไกล
การประปานครหลวง
จัดหาน้ำประปาในกรุงเทพมหานคร
การประปาส่วนภูมิภาค
จัดหาน้ำประปานอกเขตกรุงเทพมหานคร
การไฟฟ้านครหลวง
จัดหาไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จัดหาไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค
องค์การเภสัชกรรม
ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรค ยาสามัญประจำบ้าน
การรถไฟแห่งประเทศไทย
บริการขนส่งคนโดยสารและสินค้าทางรถไฟ
องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์
บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์หรือสิ่งของทั่วประเทศ
การสื่อสารแห่งประเทศไทย
บริการด้านไปรษณีย์ ไปรษณียภัณฑ์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
ให้บริการความรู้ความบันเทิงทางวิทยุและโทรทัศน์
องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย
ให้บริการด้านกีฬา และพลานามัยของประชาชน
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
ให้บริการด้านสวนสัตว์เพื่อการพักผ่อนและการศึกษา

อ้างอิงจาก : เอนก เธียรถาวร และคณะ.  ๒๕๓๕. หนังสือเรียนสังคมศึกษา รายวิชา ส ๐๖๒ การเงิน การธนาคาร และการคลัง . กรุงเทพมหานคร :  วัฒนาพานิช

บทที่ ๖ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

บทที่ 6  นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง
                รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง  คือ  วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้คนในประเทศมีรายได้สูงขึ้น  ทุกคนจะได้มีกินมีใช้  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย  จะกำหนดเป้าหมายไว้ว่าต้องการให้รายได้ของคนส่วนรวมสูงขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละเท่าไหร่ต่อปี  แต่บางปีอาจจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ไม่สูงขึ้นตามอัตราที่กำหนดไว้  เช่น  มีภาวะเงินเฟ้อ  หรือภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น  ซึ่งรัฐบาลต้องหาสาเหตุเพื่อทำการแก้ไข
1. ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด และ ภาวะเงินตึง
          รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยเรามีภาระหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้คนในประเทศมีรายได้สูงขึ้น ทุกคนจะได้มีกินมีใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย มีเป้าหมายให้รายได้ของคนส่วนรวมสูงขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละ
7 ต่อปี แต่บางปีมีเหตุการณ์ที่เหนี่ยวรั้งทำให้รายได้ไม่สูงขึ้นตามอัตราที่กำหนดไว้ เช่น มีภาวะเงินเฟ้อ หรือ ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องรีบหาสาเหตุและเข้าแก้ไขเสียก่อนที่จะเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศ
           1.1 ภาวะเงินเฟ้อ(Inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าหรือบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญมักเกิดขึ้นจากการที่ประชาชน และรัฐบาลมีความต้องการการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า หรือบริการสูงกว่าจำนวนสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น ทำให้ราคาสินค้าทั่วไปเฉลี่ยแล้วมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสังเกตได้จากตัวเลข ดัชนีราคา (price index) สูงขึ้น หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตสินค้ามีต้นทุนสูงเกินไป เช่น ต้องใช้น้ำมันในราคาสูงขึ้น เพราะน้ำมันขึ้นราคา หรือผู้ผลิตต้องเสียค่าจ้าง แรงงานมากกว่าปกติ เพราะคนงานเรียกร้องค่าจ้างสูงขึ้น เป็นต้น เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้นมาก ประชาชน ก็เดือดร้อนที่จะต้องซื้อหาสินค้าราคาแพงทั้ง ๆ ที่มีรายได้เท่าเดิม

 
         

          1.2 ภาวะเงินฝืด(Deflation)  เป็นภาวะตรงกันข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ คือ เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าหรือบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ ด้วยเหตุหลายประการ แต่ที่สำคัญ มักเกิดจากการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยกว่าจำนวนสินค้า และบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น หรือสินค้าบริการขายไม่ออก พ่อค้าอาจต้องลดราคาสินค้าของตนเพื่อให้ขายได้บ้าง ราคาสินค้าโดยทั่วไป ในภาวะเงินฝืดจึงลดต่ำลง เป็นผลให้ธุรกิจฝืดเคือง และขยายตัวช้าลง การผลิตสินค้าลดลง ผู้ผลิตเลิกจ้างคนงาน ทำให้มีการว่างงานเกิดขึ้น


         
           1.3 ภาวะเงินตึง (Tight Money) เป็นภาวะที่เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการสินเชื่อของประชาชนกับการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ประชาชนมีความต้องการกู้ยืมเงินสูง แต่สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ภาวะเงินตึงอาจเกิดจากประชาชนต้องการกู้ยืมเงินมากเกินไป เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ในขณะที่สถาบันการเงินสามารถระดมเงินฝากจากประชาชนได้น้อย เมื่อเกิดภาวะเงินตึงจึงมีผลให้โครงการใช้จ่ายลงทุนของการผลิตสินค้า และบริการชะงักงัน การจ้างงานลดน้อยลง และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอาจตกต่ำลง
 
2. ผลของภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด และ ภาวะเงินตึง
          เมื่อประเทศชาติต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด และภาวะเงินตึง ประชาชนโดยส่วนรวมย่อมได้รับผลกระทบทั้งที่เป็นผลดี และเป็นผลเสีย คือ
         
2.1 ผลดี ในภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อน ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 1 – 5  ต่อปี จูงใจให้ผู้ผลิตลงทุนขยายการผลิตมากขึ้น เมื่อมีการลงทุนเพิ่มขึ้น มีการใช้ปัจจัยการผลิต ( ที่ดิน แรงงาน ทุน และ ผู้ประกอบการ) มากขึ้น เป็นผลทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น และสินค้าที่ผลิตได้ก็ซื้อง่ายขายคล่อง ในระยะนี้เกษตรกรอาจได้รับผลประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากขายพืชผลการเกษตรได้ราคาสูงขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตยังเท่าเดิม ผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าเก็บไว้ล่วงหน้าก็จะได้รับผลกำไรจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น
          ส่วนภาวะเงินฝืด และภาวะเงินตึงนั้น ราคาสินค้าโดยทั่วไปจะลดต่ำลง เป็นผลดีแก่ผู้มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทห้างร้าน เพราะเขามีรายได้เท่าเดิม แต่สามารถซื้อหาสินค้ามาสนองความต้องการได้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าโดยทั่วไปมีราคาต่ำลง
         
2.2 ผลเสีย เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจนกระทั่งราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นผลเสียแก่ผู้ที่มีรายได้ประจำ หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าอัตราการเพิ่มของราคาสินค้าและบริการ เช่น นายชุ่ม เป็นภารโรงมีเงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท เคยเลี้ยงดูครอบครัวด้พอกินพอใช้ แต่พอเกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าสูงขึ้น ครอบครัวนายชุ่มเริ่มเดือดร้อนไม่พอกินพอใช้ เพราะนายชุ่มได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แต่สินค้าราคาแพงขึ้น
          เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจนราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าของเงินก็จะตกต่ำลง ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเดิมเคยใช้เงิน
100 บาท ซื้อข้าวได้ 1 ถัง ต่อมาเกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาข้าวสารสูงขึ้นเป็นถังละ 200 บาท ดังนี้ เงิน 100 บาทจะซื้อข้าวได้น้อยลงเหลือเพียงครึ่งถังเป็นต้น ในภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงประชาชนจะไม่ยอมเก็บเงินไว้เพราะเกรงว่าค่าของเงินจะตกต่ำลงอีก ต่างก็รีบใช้จ่ายเงินออกไปก่อนที่เงินจะไร้ค่า ผู้มีสินค้าก็จะพยายามกักตุนไว้ไม่ยอมขาย ซึ่งก็จะมีผลให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงยิ่งขึ้น
          สำหรับภาวะเงินฝืดเป็นภาวะของประชาชนมีความสามารถที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการได้น้อยกว่าปริมาณสินค้า และบริการที่มีอยู่ เมื่อสินค้าที่ผลิตขายไม่ออก ผู้ผลิตก็ต้องลดราคาลงจนขาดทุนหรือได้กำไรน้อยลงไม่คุ้มกับทุน ผู้ผลิตบางส่วนอาจเลิกการผลิตหรือลดปริมาณการผลิตลง จนเกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมาก และเมื่อมีคนว่างงานจำนวนมาก คนเหล่านั้นไม่มีรายได้พอที่จะจับจ่ายใช้สอยตามปกติได้ สินค้าและบริกรที่ผลิตได้ก็จะยิ่งขายไม่ออก ทำให้ระดับการผลิตและการจ้างงานต้องลดต่ำลงไปอีก ในภาวะเช่นนี้ ระดับรายได้ของคนส่วนรวมจะลดต่ำลงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนพัฒนาประเทศ
          ส่วนภาวะเงินตึง ซึ่งเป็นภาวะที่ประชาชนไม่สามารถกู้ยืมเงินมาใช้สอย หรือลงทุนขยายการผลิตได้ตามปกติ ทำให้กระทบกระเทือนต่อการลงทุน การขยายกิจการผลิตสินค้าและบริการ เมื่อโครงการลงทุนต่าง ๆ ชะงักงัน การจ้างงานลดลง อาจมีผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ตามปกติภาวะเงินตึงมักเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ เท่านั้น
          เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด และ ภาวะเงินตึง ซึ่งกระทบกระเทือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รายได้ของคนส่วนรวมไม่สูงขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ รัฐบาลจึงต้องเข้าแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ หรือ ภาวะเงินฝืด โดยการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง
3. การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด และภาวะเงินตึง
         
3.1 การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากประชาชนมีความต้อการซื้อสินค้า หรือบริการมากกว่าปริมาณสินค้าหรือบริการที่จะสนองความต้องการได้ ทำให้ราคาสินค้าโดยทั่วสูงขึ้น การแก้ไขภาวะเงินเฟ้ออาจกระทำได้ 2 ทาง คือ
(
1) พยายามเพิ่มปริมาณสินค้า และบริการให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งกระทำได้ยาก เพราะการผลิตสินค้าเป็นเรื่องของเอกชน รัฐบาลจะเข้าไปบังคับให้เอกชนเพิ่มการผลิตนั้นย่อมทำได้ยากและการเพิ่มปริมาณการผลิตก็ต้องใช้เวลาในการสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร
(
2) พยายามลดความต้องการสินค้า และบริการของประชาชนลง โดยรัฐบาลพยายามหามาตรการต่าง ๆ ดึงเอาเงินทางภาคเอกชนเข้ามาทางรัฐบาลให้มากขึ้น ทำให้ปริมาณเงินภาคเอกชนลดลง
(
3) ลดต้นทุนการผลิต โดยรัฐบาลพยายามหามาตรการต่าง ๆ ช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ เช่น ควบคุมราคาน้ำมัน ลดภาษีอากรและค่าธรรมเนียม เป็นต้น
          การที่รัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขภาวะเงินเฟ้อให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ก็คือ พยายามหาทางลดอำนาจซื้อของประชาชนลงให้พอดีกับปริมาณสินค้า และบริการที่มีอยู่โดยให้ธนาคารกลางควบคุมปริมาณเงินในมือของประชาชนให้มีปริมาณน้อยลง เช่น ธนาคารกลางเอาพันธบัตรรัฐบาลออกขายแก่ประชาชนทั่วไป การขายพันธบัตรออกไป รัฐบาลจะได้เงินจากประชาชนเข้าคลังมากขึ้นและเงินในมือประชาชนจะมีปริมาณน้อยลง เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงิน ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็อาจหาทางเพิ่มอัตราภาษีอากร เพื่อดึงเอาเงินจากประชาชนเข้ามาในรูปแบบภาษีอากรให้มากขึ้น และพยายามใช้จ่ายเงินงบประมาณออกไปให้น้อยลงกว่ารายได้ของรัฐบาล การเรียกเก็บภาษีจากประชาชนสูงขึ้น และใช้จ่ายเงินงบประมาณออกไปให้น้อยลงกว่ารายได้ของรัฐบาล การเรียกเก็บภาษีจากประชาชนสูงขึ้น และใช้จ่ายเงินงบประมาณให้น้อยลงเช่นนี้ รัฐบาลจะได้เงินจากประชาชนเข้าคลังมากขึ้น และเงินในมือของประชาชน จะมีปริมาณลดลง วิธีการเช่นนี้เป็นการใช้นโยการคลัง ซึ่งรัฐบาลจะนำมาใช้ร่วมกับ ซึ่งรัฐบาลจะนำมาใช้ร่วมกับนโยบายการเงิน เพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ
  
       3.2 การแก้ไขภาวะเงินฝืด ภาวะเงินฝือที่เกิดจากปริมาณเงินหมุนเวียนมีอยู่น้อยกว่าปริมาณสินค้า พ่อค้าขายไม่ออกจึงต้องลดราคาสินค้าลงเมื่อต้นทุนเท่าเดิมแต่พ่อค้าต้องขายสินค้าราคาต่ำลง เมื่อผู้ผลิตลดหรือเลิกทำการผลิตเลิกจ้างคนงาน เลิกใช้วัตถุดิบ จะมีผลให้คนว่างงานมากขึ้น
          การที่รัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขภาวะเงินฝืดให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ก็คือ พยายามหาทางเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนให้สูงขึ้นให้พอดีกับปริมาณสินค้าที่มีอยู่ โดยให้ธนาคารกลางหาทางเพิ่มปริมาณเงินในมือของประชาชนให้มีปริมาณสูงขึ้น เช่น ธนาคารกลางเอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชน การรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนกลับมา รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินออกไป และเงินในมือประชาชนจะมีปริมาณสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงินในขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามใช้จ่ายเงินงบประมาณออกไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น และเก็บภาษีอากรจากประชาชนให้น้อยลง เพื่อให้เงินในมือประชาชนมีปริมาณมากขึ้น วิธีการเช่นนี้เป็นการใช้นโยบายการคลังซึงรัฐบาลจะนำมาใช้ร่วมกับนโยบายการเงินเพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืด
         
3.3 การแก้ไขภาวะเงินตึง เนื่องจากภาวะเงินตึงอาจเกิดจากสถาบันการเงินสามารถระดมเงินฝากได้น้อย และประชาชนมีความต้องการกู้เงินมากเกินไป และมักเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ เป็นครั้งเป็นคราว รัฐบาลอาจแก้ได้โดยให้ดอกเบี้ยเงินฝากมีอัตราสูงขึ้น ยกเว้นภาษีดอกภาษีดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศเพ่อเปิดโอกาสให้สถาบันนำเงินกู้ต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจชะลอการกู้ยืมของประชาชนโดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้สูงขึ้น หรือกำหนดให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมไปลงทุนตามโครงการที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศให้มากขึ้น
 
4. นโยบายการเงิน
         
4.1 ปริมาณเงิน  ก่อนที่จะทำความเข้าใจถึงนโยบายการเงิน นักเรียนควรจะทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เมื่อรัฐบาลจัดทำเงินตราขึ้นมาแล้วได้นำไปใช้หมุนเวียนกันอย่างไร ซึ่งอาจทำความเข้าใจได้ตามแผนภูมิดังต่อไปนี้


ตามแผนภูมิ เงินตรา คือ ธนบัตรกับเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้มาจากโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย  ซึ่งผลิตธนบัตรขึ้นมาโดยมีทุนสำรองเป็นทองคำ และเงินตราต่างประเทศจำนวนหนึ่งกับเหรียญกษาปณ์ ซึ่งกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเป็นผู้ผลิตขึ้นมา ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ที่รัฐบาลผลิตออกมารวมเป็นเงินตราที่ออกใช้กระจายอยู่ในมือประชาชนในธนาคารและในมือรัฐบาล
         ปริมาณเงิน คือ เงินที่พร้อมที่จะใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าหรือบริการ ใช้ชำระหนี้ได้ ตามความต้องการของประชาชนทันที ปริมาณเงินในความหมายอย่างแคบ ได้แก่ (1) ธนบัตร (2) เหรียญกษาปณ์ (3)เงินฝากกระแสรายวันที่ถือโดยประชาชนเท่านั้น และเมื่อนำปริมาณเงินตามความหมายอย่างแคบมารวมกับเงินฝากประจำในสถาบันการเงินจะเป็น ปริมาณเงินตามความหมายอย่างกว้าง           ถ้าหากปริมาณเงินในมือประชาชนสูงขึ้น อำนาจซื้อของประชาชนก็จะเพิ่มตามไปด้วย ยิ่งปริมาณเงินเพิ่มเร็วเท่าใด อำนาจซื้อของประชาชนก็จะเร็วขึ้นเท่านั้น ถ้าหากอำนาจซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ถ้าหากอำนาจซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่จะสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นแล้วอาจผลักดันให้ราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น จนเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าปริมาณเงินมีน้อยกว่าปริมาณสินค้าและบริการ อาจพลักดันให้ราคาสินค้าโดยทั่วไปตกต่ำลง จนเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นได้ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเงินฝืดจะเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ ในการนี้รัฐบาลอาจแก้ไขโดยใช้นโยบายการเงิน  
         4.2 วัตถุประสงค์ของนโยบายการเงิน เงินนั้นมีความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจจะไปสู่เป้าหมาย รัฐจะต้องคอยรักษาปริมาณเงินในมือประชาชนให้พอดีกับปริมาณสินค้าและบริการที่มีอยู่พยายามให้อัตราการขยายตัวในการผลิตสินค้าและบริการ วัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงินก็คือ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมปริมาณเงินในมือประชาชนให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ป้องกันมิให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดขึ้น เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
        4.3 เครื่องมือของนโยบายการเงิน เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ออกธนบัตรและควบคุมการให้กู้ยืมเงินของสถาบันต่าง ๆ โดยมีธนาคารกลาง ( กรณีประเทศไทยได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินที่มีอยู่ในมือของประชาชน ถ้าในขณะใดรัฐบาลเห็นว่าปริมาณเงินในมือของประชาชนมีมากเกินไปจนอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ ธนาคารกลางก็อาจหาทางลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง เช่น อาจดำเนินมาตรการเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินให้ประชาชนกู้น้อยลง หรือนำพันธบัตรรัฐบาลออกขายแก่ประชาชน เหล่านี้จะเป็นผลให้เงินในมือของประชาชนลดลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าในขณะใดประเทศอยู่ในภาวะเงินฝืด รัฐบาลต้องการจะให้ประชาชนมีเงินในมือมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนให้สูงขึ้นธนาคารกลาง ก็อาจซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนมาโดยจ่ายเงินออกไป หรืออาจสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินให้ประชาชนกู้ได้มากขึ้น เป็นต้น 
5. วิธีการควบคุมปริมาณเงินของธนาคารกลาง อาจจำแนกได้ดังนี้ 
      5.1 การเพิ่มหรือการลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย เมื่อธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินจากประชาชนไว้ และจะให้กู้ต่อไป ธนาคารกลางจะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เก็บเงินสดสำรองไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นที่อุ่นใจของผู้ฝากเงิน กับเพื่อควบคุมการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น เดิมธนาคารกลางกำหนดอัตราเงินสดสำรองไว้ร้อยละ 20  ของเงินฝาก เมื่อธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินจาก นาย ก ไว้ 100,000 บาท ธนาคารพาณิชย์จะให้ นาย ข กู้ต่อไปได้ 80,000 บาท ถ้าธนาคารกลางต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ให้นาย ข กู้ได้มากขึ้น ก็จะลดอัตราเงินสดสำรองจากเดิมร้อยละ 20 ลงเหลือ ร้อยละ 10 ของเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ก็จะให้นาย ข กู้ได้ถึง 90,000 บาท ในทางตรงกันข้าม ถ้าธนาคารกลางต้องการจะให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินให้ นาย ข กู้ได้น้อยลงก็จะเพิ่มอัตราเงินสดสำรองจากเดิมร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ของเงินฝาก ดังนี้ธนาคารพาณิชย์ก็จะให้นาย ข กู้ได้เพียง 70,000 บาท         ตามตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้าธนาคารกลางต้องการจะให้ปริมาณเงินในมือของประชาชนสูงขึ้น เพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืด ธนาคารกลางก็จะส่งเสริมการให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์โดยลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายให้ต่ำลงจากเดิม และถ้าต้องการจะลดปริมาณเงินในมือของประชาชนให้น้อยลงเพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางก็จะจำกัดการให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ โดยเพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายให้สูงขึ้นจากเดิม 
        5.2 การเพิ่มหรือลดอัตรารับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน การกู่ยืมโดยใช้ตั๋วเงินประเภทต่าง ๆ เป็นหลักประกัน ตัวอย่างเช่น นายสมศักดิ์ ต้องการกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ 1 ล้านบาท  จึงออกตั๋วเงินมีอายุ 1 ปี นำไปขายลดให้ก่ธนาคารกรุงเทพ ในการนี้ธนาคารกรุงเทพจะคิดส่วนลด เรียกว่าอัตราซื้อลด สมมติว่า อัตราซื้อลดร้อยละ 10 ธนาคารกรุงเทพก็จะจ่ายเงินให้นายสมศักดิ์ เพียง 900,000 บาท หักส่วนลดไว้ 100,000 บาท เมื่อตั๋วเงินครบกำหนด ธนาคารกรุงเทพจะเรียกเก็บเงินจากนายสมศักดิ์เต็มจำนวน 1 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพเมื่อรับซื้อตั๋วเงินไว้ ต้องการเงินสดก็จะนำตั๋วเงินฉบับเดียวกันนี้ไปขายต่อให้กับธนาคารกลาง โดยธนาคารกลางจะหักอัตรารับช่วงซื้อลดออกจำนวนหนึ่ง ธนาคารกรุงเทพจะได้กำไรจากการรับซื้อตั๋วเงินมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดอัตรารับช่วงซื้อลดของธนาคารกลาง 
          ตามตัวอย่างข้างต้นนี้ สมมติว่ามีภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้น ธนาคารกลางต้องการให้ประชาชนกู้เงินให้มากขึ้นจะได้มีอำนาจซื้อมากขึ้น ก็อาจคิดอัตรารับช่วงซื้อลดเพียงร้อยละ 8 ซึ่งธนาคารกรุงเทพก็ยังมีกำไรจากการรับซื้อตั๋วเงินเพียงร้อยละ 2 แต่ถ้าประเทศมีภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้น ธนาคารกลางต้องการให้ลดอำนาจซื้อของประชาชนลง ก็อาจคิดอัตรารับช่วงซื้อลดสูงขึ้นเป็นร้อยละ 10 เท่ากับที่ธนาคารกรุงเทพรับซื้อลดจากนายสมศักดิ์ ในการนี้ธนาคารกรุงเทพจะไม่ได้ผลกำไรเลยทั้งนี้อาจต้องขาดทุนเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการรับซื้อตั๋วเงินด้วย ธนาคารกรุงเทพก็จะเลิกรับซื้อตั๋วเงิน
          5.3 การซื้อขายหลักทรัพย์ หลักทรัพย์ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ใบหุ้นขององค์การธุรกิจ ตั๋วเงินของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ ธนาคารกลางอาจใช้เครื่องมือดำเนินนโยบายการเงินได้เป็นอย่างดี สมมติว่า ธนาคารต้องการจะเพิ่มปริมาณเงินในมือของประชาชนเพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืด ธนาคารกลางก็จะประกาศรับซื้อหลักทรัพย์ชนิดต่าง ๆ จากสถาบันการเงินหรือประชาชนที่ถือหลักทรัพย์เหล่านั้น เมื่อธนาคารกลางจ่ายเงินรับซื้อหลักทรัพย์ออกไป ก็จะทำให้ปริมาณเงินในมือของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าธนาคารต้องการจะลดปริมาณเงินในมือของประชาชน เพื่อแก้ภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางก็จะประกาศขายหลักทรัพย์ออกไป เมื่อสถาบันการเงินและประชาชน จ่ายเงินซื้อหลักทรัพย์ที่รัฐบาลขายปริมาณเงินในมือของประชาชนก็จะลดน้อยลง

อ้างอิงจาก : เอนก เธียรถาวร และคณะ.  ๒๕๓๕. หนังสือเรียนสังคมศึกษา รายวิชา ส ๐๖๒ การเงิน การธนาคาร และการคลัง . กรุงเทพมหานคร :  วัฒนาพานิช