วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๓ ธนาคารพาณิชย์

บทที่ ๓ ธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) หมายถึง บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงิน ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยและหลักทรัพย์ ธุรกิจการเงินและธุรกิจการให้บริการอื่น(ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน , ๒๕๔๗)
 ระบบของธนาคารพาณิชย์
         
ระบบของธนาคารพาณิชย์ หมายถึง ธนาคารต่าง ๆ ที่ดำเนินกิจการพร้อม ๆ กันหลายธนาคาร ในประเทศเดียวกัน ภายใต้ตัวบทกฎหมายเดียวกัน และใช้ระเบียบปฏิบัติงานคล้ายคลึงกัน จึงกล่าวได้ว่า ธนาคารเหล่านี้อยู่ในระบบเดียวกัน เช่น ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยจะลงบัญชีจำนวนเงินเป็นบาทเหมือนกัน อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน มีระเบียบและวิธีปฏิบัติคล้ายคลึงกัน เป็นระบบของธนาคารพาณิชย์ ถ้าแบ่งตามลักษณะที่เจ้าของทำการควบคุมได้ 2 ระบบใหญ่ คือ 1. ระบบธนาคารอิสระหรือเดี่ยว
         
เป็นระบบที่ธนาคารแต่ละธนาคารเป็นหน่วยอิสระไม่ผูกพันกับธนาคารอื่น ธนาคารในระบบนี้จะมีสำนักงานเพียงแห่งเดียว ไม่มีสาขาอื่นใดอยู่ในความควบคุม จัดตั้งขึ้นตามความต้องการทางเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่น เช่น ธนาคารประจำมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
          ในบางประเทศอาจมีกฎหมายห้ามมีระบบธนาคารสาขา แต่เพื่อให้มีเงินทุนดำเนินการจำนวนมาก และกิจการมั่นคง จึงมีการรวมตัวกันในระบบ ธนาคารลูกโซ่ และ ธนาคารกลุ่ม
          ธนาคารลูกโซ่ เป็นธนาคารอิสระตั้งแต่
2 ธนาคารขึ้นไป อยู่ภายใต้การควบคุมของเอกชน คนเดียว หรือมากกว่า การควบคุมอาจทำได้โดยการเข้าไปถือหุ้นในธนาคาร หรือเข้าร่วมในคณะกรรมการบริหารงาน ธนาคารในระบบลูกโซ่นี้มีชื่อแตกต่างกัน เป็นองค์กรแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด
          ธนาคารกลุ่ม ธนาคารภายใต้ธนาคารกลุ่มจะมีบริษัทผู้ถือหุ้น หรือบริษัทในเครือของบริษัทผู้ถือหุ้น เป็นผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าของโดยตรง หรือโดยอ้อม บริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่จะประกอบกิจการอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคาร เช่น กลุ่มธนาคารเชสแมนฮัตตัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก และมีธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มธนาคารนี้จำนวนมาก เป็นต้น
2. ระบบธนาคารสาขา
          เป็นระบบธนาคารที่มีสาขาตั้งแต่
2 แห่งขึ้นไป ดำเนินงานอยู่ทั้งใน และนอกประเทศ อย่างเช่นการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ผู้จัดการธนาคารสาขาจะได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานใหญ่อย่างเคร่งครัด

ประวัติของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
         
ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนับเป็นสถาบันการเงินที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยใช้ระบบธนาคารสาขา จึงมีธนาคารกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีความเจริญเติบโตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็น
3 ระยะ คือ
ระยะแรก ระหว่าง พ.ศ.
2431 ถึง พ.ศ. 2484
         
 กิจการธนาคารพาณิชย์ส่วนมากเป็นของชาวต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2431 มีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ของชาวอังกฤษเข้ามาดำเนินธุรกิจ และ พ.ศ. 2440 มีธนาคารแห่งอินโดจีนของชาวฝรั่งเศสเข้ามาประมาณ พ.ศ. 2449 จึงได้มีการจัดตั้งธนาคารของคนไทยขึ้น คือ แบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีทุนเริ่มแรก 3 ล้านบาท แต่ระยะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังฝากเงินและเลื่อมใสในบริการของธนาคารต่างชาติมากกว่า
ระยะที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2488
          เป็นระยะเกิดสงครามมหาเอเชีย รัฐบาลไทยได้ริบทรัพย์สินของชาติฝ่ายตรงข้ามหมด กิจการธนาคารพาณิชย์ของชาวยุโรปต้องล้มเลิกไป เปิดโอกาสให้คนไทยตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นหลายแห่ง ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้นที่ต้องการสนับสนุนให้คนไทยดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ให้มากที่สุด
ระยะที่สาม ตั้งแต่ พ.ศ.
2489 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
          ธนาคารพาณิชย์ในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีสาขากระจายไปทั่วประเทศ โดยมีพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505  วางระเบียบแบบแผนการดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ให้เป็นไปตามหลักสากล หลังจากนั้นมีการปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ ใน ปี พ.ศ. 2522  ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ และแนวนโยบายเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์เป็น 2 ลักษณะ คือ
          (
1) ธนาคารไทย คือ ธนาคารที่จดทะเบียนในประเทศไทย 16 ธนาคาร มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีสาขาในต่างประเทศอีกด้วย
          (
2) ธนาคารสาขาต่างประเทศ คือ ธนาคารของต่างประเทศที่เข้ามาตั้งเป็นสาขาในประเทศไทย มีอยู่ 14 ธนาคาร เป็นของชาติต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์
          เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.
2505 แล้ว ธนาคารของต่างประเทศเปิดกิจการในกรุงเทพมหานครได้โดยไม่มีสิทธิขยายสาขาในต่างจังหวัด ส่วนธนาคารไทย ก็เริ่มจำกัดจำนวนธนาคารที่จะอนุญาตให้ตั้งใหม่ แต่สนับสนุนให้ขยายสาขาธนาคารไทยออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบัน นับว่าเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินประเภทอื่น (ไม่รวมธนาคารแห่งประเทศไทย) ในปี พ.ศ. 2532 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบสามารถระดมเงินออมได้มากกว่าร้อยละ 70 ของเงินออมทั้งหมด และมีสินทรัพย์ประมาณร้อยละ 75 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงิน
 

การบริการของธนาคารพาณิชย์
         
ธนาคารพาณิชย์จะให้บริการแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
 
1. การรับฝากเงิน
         
กล่าวโดยทั่วไปเราอาจแบ่งการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์ได้แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
          1.1 เงินฝากกระแสรายวัน ( demand deposits) เงินฝากประเภทนี้ ธนาคารต้องจ่ายคืนเมื่อผู้ฝากทวงถาม การฝากแบบนี้ ผู้ฝากจะต้องนำเงินจำนวนหนึ่งมาฝากกับธนาคาร และทางธนาคารจะมอบสมุดเช็คให้ผู้ฝากเพื่อลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินไดด้ตามวงเงินที่ฝากไว้ นักธุรกิจส่วนใหญ่นิยมฝากเงินกระแสรายวัน เพราะสะดวกในการสั่งจ่ายเงินในการประกอบธุรกิจโดยไม่ต้องเสียเวลานับเงิน และไม่จำเป็นต้องพกพาเงินจำนวนมากติดตัวไป ส่วนธนาคารก็สามารถนำเงินที่ลูกค้าฝากไว้นั้นไปให้กู้ยืมต่อไปได้ตามปกติการฝากเงินกระแสรายวัน ผู้ฝากจะไม่ได้รับดอกเบี้ย หรือได้รับดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก
         
1.2 เงินฝากออมทรัพย์ (saving deposits) คือ เงินฝากที่ผู้ฝากจะเบิกถอนเมื่อไรก็ได้โดยนำเอกสารคู่ฝากไปเบิกที่ธนาคาร เงินฝากประเภทนี้โดยทั่ว ๆ ไป ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินฝากประจำ
 
         1.3 เงินฝากประจำ ( time deposits) เงินฝากประเภทนี้ผู้ฝากต้องตกลงกับธนาคารก่อนว่าจะฝากเป็นจำนวนเท่าไร และเป็นเวลานานเท่าใด ถ้าต้องการฝากเพิ่มก็ต้องเปิดบัญชีใหม่อีก และจะถอนคืนได้ต่อเมื่อครบกำหนด หรือต้องแจ้งให้ธนาคารทราบล่วงหน้าก่อน การฝากเงินประเภทนี้ผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูง ธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปจะมีเงินฝากประจำเป็นส่วนใหญ่ ราวร้อยละ 70 ของเงินฝากทั้งหมด
         
1.4 เงินฝากอื่น ๆ ได้แก่ สินมัธยัสถ์ เงินฝากเคหสงเคราะห์ เพื่อการศึกษา เป็นการฝากสะสมในจำนวนคงที่ตามระยะเวลาที่กำหนดและจะระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อการศึกษา เพื่อที่อยู่อาศัย
2. การให้กู้ยืม นับเป็นหน้าที่และบทบาทสำคัญทางด้านการเงินของประเทศตามปกติธนาคารพาณิชย์มีแหล่งเงินทุนที่รวบรวมมาได้ 3 ทาง ด้วยกันคือ
          (
1) จากเงินฝากของลูกค้า
          (
2) จากการลงทุนของผู้ถือหุ้นธนาคาร
          (
3) กู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ
          เงินทุนทั้ง
3 แหล่งนี้ประมาณ ร้อยละ 75 มาจากเงินที่ได้จากการรับฝากของลูกค้า ( กรณีแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยมาจากเงินรับฝากประมาณร้อยละ 60 – 70 ของแหล่งเงินทุนทั้งหมด) เงินรับฝากของลูกค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธนาคารพาณิชย์ เงินทุนที่ได้จากการลงทุนที่ได้จากการลงทุนของผู้ถือหุ้นจากการกู้ยืม และจากเงินรับฝากของลูกค้านี้ ธนาคารพาณิชย์จะนำไปให้กู้ยืม
3. การโอนเงิน หมายถึงการส่งเงินภายในท้องถิ่นเดียวกัน การโอนเงินจากท้องถิ่นหนึ่งไปยังท้องถิ่นหนึ่ง หรือการให้โอนเงินจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่ง เหตุผลที่การโอนเงินทำได้ง่าย และสะดวก ก็เพราะการใช้ตั๋วเงิน หรือโอนเงินทางโทรเลข เช่น ดราฟต์ที่สั่งจ่ายเงิน ณ ธนาคารจังหวัดนครสวรรค์ แต่นำมาเข้าบัญชรธนาคารที่กรุงเทพฯ หากมองด้านผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับนั้นก็เท่ากับโอนเงินมาจากนครสวรรค์ การที่มีธนาคารเป็นผู้ทำหน้าที่โอนเงินนั้น ย่อมก่อให้เกิดการประหยัดในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะไม่ต้องส่งเงินกันจริง ๆ ในทำนองเดียวกับการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการโอนเงินโดยการใช้ตั๋วแลกเงิน ดราฟต์ หรือโทรเลข
4. การเรียกเก็บเงิน การทำหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินนั้น เป็นหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนเงิน กล่าวคือ ธนาคารจะเรียกเก็บเงินตามเช็ค ตั๋วเงิน หรือ ดราฟต์ ที่ครบกำหนด ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปเก็บเงินด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะธนาคารส่วนมากมีตัวแทนหรือสาขาอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ หรือในต่างประเทศด้วย ทำให้สามารถเรียกเก็บเงินได้โดยสะดวก รวดเร็ว และ ประหยัด
5. การให้เช่าหีบนิรภัย ตามปกติธนาคารมักมีห้องมั่นคงไว้เพื่อเก็บรักษาของมีค่าของธนาคาร หรือเพื่อให้ลูกค้าเช่าสำหรับเก็บของมีค่า หรือของสำคัญ ๆ โดยลูกค้าสามารถทำสัญญาเช่าหีบนิรภัยเพื่อเก็บทรัพย์สินอันมีค่า เช่น เครื่องเพชร ทองรูปพรรณ โฉนดสัญญาต่าง ๆ ในการให้เช่าหีบนิรภัยนั้น ธนาคารจะมอบกุญแจให้แก่ผู้เช่าหนึ่งดอก และธนาคารเก็บไว้หนึ่งดอก และเมื่อไขหีบนิรภัยจะต้องใช้กุญแจทั้ง 2 ดอกพร้อมกัน ส่วนอัตราค่าเช่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของหีบนิรภัย และมักจะคิดค่าเช่าเป็นรายปี
6. การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หมายถึง การที่ธนาคารทำหน้าที่ซื้อขายเมื่อประชาชนต้องการเงินตราต่างประเทศก็สามารถซื้อได้จากธนาคารพาณิชย์ตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ และถ้าผู้ใดต้องการขายเงินตราต่างประเทศที่ตนมีในครอบครอง ก็สามารถนำไปขายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ได้เช่นกัน
7. การบริการอื่น ๆ นอกจากการให้บริการตามข้อ 1 -  6 แล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังให้บริการอื่น ๆ แก่ลูกค้าของธนาคารอีก เช่น การค้ำประกันเพื่อลูกค้า  การออกเลตเตอร์ออฟเครดิต ( letter of credit ) หรือ L/C ) เพื่อการสั่งสินค้าภายในประเทศ การรับรองตั๋วเงิน ตลอดจนการให้คำปรึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนด้านต่าง ๆ เป็นต้น
          หน้าที่ทางด้านการบริการนั้น ไม่จำเป็นว่าธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารจะต้องปฏิบัติทุกอย่างดังกล่าวแล้ว หน้าที่ในด้านการให้บริการนี้ถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าหน้าที่ในด้านการให้กู้ยืม ทั้งนี้เพราะกิจการหลักของธนาคารพาณิชย์ ก็คือ การสร้างเงินฝาก ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้ศึกษาในตอนต่อไป

อ้างอิงจาก : เอนก เธียรถาวร และคณะ.  ๒๕๓๕. หนังสือเรียนสังคมศึกษา รายวิชา ส ๐๖๒ การเงิน การธนาคาร และการคลัง . กรุงเทพมหานคร :  วัฒนาพานิช


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น