วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๑ การเงิน

บทที่ ๑ การเงิน
๑.๑ ความหมายของเงิน
          ในทางเศรษฐกิจ เงิน คือสิ่งที่ทุกคนในสังคมยอมรับในขณะนั้นว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และใช้วัดมูลค่าของสินค้าและบริการทุกชนิด เงินผ่านลำดับของวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานนับพัน ๆ ปี เริ่มจากการใช้เงินเป็นสิ่งของ (
Commodity money) เช่นขนสัตว์ หนังสัตว์ ใบชา ยาสูบ แต่สิ่งเหล่านี้ยังขาดคุณสมบัติของเงินที่ดีจึงเปลี่ยนมาใช้เงินโลหะ (Metallic money)แทน จนกระทั่งมาใช้เงินกระดาษ(Paper money) และเงินเครดิต (Credit money) กันในปัจจุบัน


๑.๒ ลักษณะของเงินที่ดี
 
         เดิมมนุษย์ใช้สิ่งของต่าง ๆ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอีกท้องถิ่นหนึ่ง มนุษย์จึงแสวงหาสื่อกลางที่คนทุกท้องถิ่นยอมรับ เช่น ทองคำ หรือโลหะเงิน โลหะเหล่านี้มีลักษณะของเงินที่ดี คือ
          ๑. เป็นของที่หายาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกัน เงินจึงมักเป็นสสารที่หาได้ยาก ตัวอย่างเช่น ทองคำและโลหะเงิน ซึ่งเป็นของหายาก หรือจะนำมาหล่อหลอมใช้เป็นเครื่องประดับก็มีค่าในตัวมันเอง
          ๒. เงินเป็นของที่ดูออกง่าย สามารถรู้ได้ว่าเป็นเงินปลอมหรือเงินจริง โดยไม่ต้องอาศัยวิธีการี่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ถ้าเราใช้เพชรมาทำเป็นเงินก็คงดูออกได้ยาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์
          ๓. เป็นของที่มีมูลค่าคงตัว มูลค่าของทองคำ และโลหะเงินค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับสิ่งของชนิดอื่น และมูลค่านี้จะยังคงอยู่ตลอดไป
          ๔. เป็นของที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้   ทองคำและโลหะเงินสามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้ และมูลค่าของส่วนที่แบ่งย่อย ๆ นั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลง และใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนได้ เช่น ทองคำหนึ่งแท่ง แลกข้าวโพดได้ ๑๐๐ กระสอบ ถ้าต้องการข้าวโพดเพียง ๕๐ กระสอบต้องใช้ทองคำเพียงครึ่งแท่ง เป็นต้น ถ้าเราใช้หนังสัตว์เป็นเงินอย่างสมัยโบราณ เมื่อแบ่งหนังสัตว์ออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อาจมีมูลค่าต่ำ เพราะใช้ประโยชน์ต่อไปไม่ได้
          ๕. เป็นของที่ขนย้ายสะดวก ทองคำและโลหะเงินเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในตัวสูง มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับมูลค่า ซึ่งสะดวกในการขนย้ายหรือพกพาติดตัวไปมาได้ง่าย ถ้าเราใช้ใบยาสูบเป็นเงินคงยุ่งยากไม่สะดวกในการขนย้ายหรือนำติดตัวไปด้วย
          ๖. เป็นของที่คงทนถาวร เพราะเงินเป็นสิ่งที่เราต้องพกติดตัวไปไหน ๆ เสมอ ดังนั้นเงินจึงควรจะคงทนไม่แตกหักง่าย และเก็บไว้นานเพียงใดก็ไม่เป็นสนิมเน่าเปื่อยพุพัง
          เดิมเรานำทองคำและโลหะเงินมาใช้เป็นเงินโดยมิได้ประทับตราอะไรลงไป จึงเรียกว่าเงินเฉย ๆ ไม่เรียกว่า เงินตรา อย่างเช่นทุกวันนี้ การใช้เงินในช่วงแรก ๆ ต้องคอยตรวจสอบความบริสุทธิ์ และน้ำหนักบนเนื้อทองคำ หรือ โลหะเงินกันอยู่เสมอ ต่อมาจึงได้มีผู้ประทับตราลงบนเงินเป็นเครื่องหมายรับรองน้ำหนักและความบริสุทธิ์ของเงินเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่นไม่ต้องตรวจสอบให้ยุ่งยาก เงินที่ได้รับการประทับตรารับรองเรียกว่า เงินตรา


 ๑.๓ หน้าที่ของเงิน
          เงินที่เรานำมาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในปัจจุบันนี้นับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์อยู่มาก การซื้อขายแลกเปลี่ยนจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่หยุดชะงักก็ต่อเมื่อมีเงินมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรให้ทำงานได้คล่องตัวไม่เกิดการฝืดหรือติดขัด ในขณะที่เราอยู่ในระบบการแลกเปลี่ยนที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางอย่างในปัจจุบันนี้ ความสำคัญของเงินจะเห็นได้เด่นชัดขึ้น ถ้าเรานำไปเปรียบเทียบกับระบบการแลกเปลี่ยนดั้งเดิมซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า เงินที่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

          ๑. ความสะดวกในการซื้อขาย
          การแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าในสมัยก่อนจะไม่สามารถทำได้โดยสะดวกเหมือนกับการซื้อขายที่ใช้เงินเป็นสื่อกลาง เพราะการแลกเปลี่ยนในสมัยก่อนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่ทำการแลกเปลี่ยนมีความต้องการตรงกัน อย่างเช่น ผู้ที่มีข้าวต้องการแลกกลับวัว ผู้นั้นต้องสืบหาผู้เลี้ยงวัวยินดีจะนำวัวมาแลกเปลี่ยนกับข้าวของตนเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลามาก แต่ถ้านำเงินมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก็จะเกิดความสะดวกในการซื้อขาย เมื่อผู้ปลูกข้าวต้องการวัว ก็จะนำข้าวไปขายได้เงินมาก็สามารถไปหาซื้อวัวที่ต้องการได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
          ๒. ความสะดวกในการวัดมูลค่า
         
การแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าอย่างในสมัยก่อนจะขาดตัวกลางในการวัดค่าของสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนกัน การกำหนดราคาจึงต้องใช้วิธีกำหนดปริมาณระหว่างสินค้าชนิดต่าง ๆ เช่น มันเทศ ๑๐ หัว มีราคาเท่ากับข้าว ๑ ลิตร ไข่เป็ด ๑๐๐ ฟอง          มีราคาเท่ากับไก่ ๓ ตัว เป็นต้น การกำหนดราคาอย่างนี้ก่อความยุ่งยากในการซื้อขายมากมาย เพราะสินค้า และบริการที่จะนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในปัจจุบันมีเป็นร้อยเป็นพันชนิด แต่ถ้านำเงินมาใช้เป็นตัวกลางในการวัดค่าของสิ่งต่าง ๆ เช่น ข้าวสารถังละ ๑๐๐ บาท ไก่ตัวละ ๓๐ บาท ไข่เป็ดฟองละ ๑.๕๐ บาท เช่นนี้ปัญหาในการวัดมูลค่าสินค้า และบริการต่าง ๆ ก็จะหมดไป
          ๓. ความสะดวกในการสะสมทรัพย์สิน
          การแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าอย่างในสมัยก่อน มนุษย์เราต้องมีภาระต้องเก็บรักษาสินค้าต่าง ๆ เพื่อไว้ใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ยิ่งคนมีฐานะร่ำรวยก็มีภาระต้องสะสมสินค้าต่าง ๆ ไว้จำนวนมาก เกิดความไม่สะดวกเพราะต้องเสียเวลาใช้จ่ายในการเก็บรักษา เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย แต่ถ้าเราใช้เงินเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน การสะสมเงินไว้จะสะดวกสบายกว่าการสะสมสินค้ามาก เพราะเงินที่เราสะสมไว้นั้นมีค่าค่อนข้างคงที่ สามารถนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย
          การที่มนุษย์เรานำเงินมาใช้ก็เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนโดยตรงหน้าที่หลักของเงินจึงมีอยู่ ๔ ประการ คือ 

๑. เงินเป็นมาตรฐานในการเทียบค่า (
Standard of Value )
          สมัยยังที่อยู่ในระบบแลกสิ่งของกับสิ่งของมนุษย์เราต้องยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนอยู่มาก  เช่น นาย ก นำข้าว ๑ ถัง อาจแลกวัวได้เพียง ๑ ขา และเจ้าของวัวก็ไม่ยอมแลกเพราะถ้าตัดขาวัวไปแลก วัวก็จะตาย เนื่องจากการแลกเปลี่ยนระบบนี้ยังไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ผู้แลก และ ผู้รับแลกต่างก็จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเอาตามความพอใจของตน ซึ่งไม่เหมือนกัน จึงตกลงเปลี่ยนกันยาก แต่เมื่อมนุษย์นำเงินเข้ามาทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการเทียบค่า ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสะดวกขึ้นมาก และมีมาตรฐานที่แน่นอน เราจะกำหนดสินค้าแต่ละชิ้นเป็นหน่วยของเงินตรา เรียกว่า ราคาสินค้า เช่าข้าวสารถังละ ๑๐๐ บาท เนื้อวัวขาละ ๒๐๐ บาท เป็นต้น สินค้าใดมีผู้นำมาเสนอขายมาก ราคาก็จะมีแนวโน้มต่ำลง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีผู้มาเสนอขายน้อย แต่มีผู้ต้องการมากราคาสินค้าก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีเงินเป็นมาตรฐานในการเทียบค่า

๒. เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (
Medium of Exchange )
          เงินจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำให้ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือก ผู้เลี้ยงวัวเมื่อต้องการน้ำปลาก็ไม่จำเป็นต้องไปหาผู้ผลิตน้ำปลาที่มีความต้องการวัว ผู้เลี้ยงวัวอาจจะขายวัวให้ได้เงินมาเสียก่อน เมื่อมีเงินก็จะสามารถนำไปซื้อหาน้ำปลาที่ตนต้องการต่อไปได้ การใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจก้าวหน้า เพราะการมีเงินทำให้เกิดอำนาจซื้อ ( Purchansing Power )ที่ทำให้ผู้ถือสามารถนำไปซื้อหาสินค้าและบริการในเวลาใด หรือซื้อจากผู้ใดก็ได้

๓. เงินเป็นมาตรฐานการชำระหนี้ภายหน้า (
Standard of Deferred Payment )
          ปัจจุบันมนุษย์เราติดต่อค้าขายระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ การค้าขายหรือการประกอบธุรกิจต่าง ๆ จะมีการผลัดเวลาของการชำระเงินจากปัจจุบันไปเป็นอนาคต การชำระหนี้ในภายหน้าโดยกำหนดเป็นจำนวนเงินจะสามารถบอกจำนวนที่ผัดผ่อนหรือเลื่อนการชำระไปในอนาคตได้สะดวก และแน่นอน และเมื่อได้รับเงินตามจำนวนแห่งหนี้แล้ว ข้อผูกพัน หรือหนี้ระหว่างกันก็เป็นอันหมดสิ้นไป ดังนั้นเมื่อเรารู้จักใช้เงินแล้ว เงินจะเป็นสัญญาการชำระหนี้ภายหน้าได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ หรือค่าบริการ แต่ลูกหนี้อาจต้องเสียค่าดอกเบี้ยรวมไปด้วย เช่น การกู้ยืมเงิน การเช่าบ้าน การประกันภัย การชำระค่าน้ำประปา หรือค่าไปฟ้าเป็นรายเดือน เหล่านี้จะเสียค่าบริการภายหลังที่เราได้ใช้บริการไปแล้วทั้งสิ้น
เงินจึงทำหน้าที่เป็นมาตรฐานสำหรับเลื่อนการชำระหนี้ในอนาคตได้

 ๔. เงินเป็นเครื่องรักษามูลค่า (
Standard of Value )
          เมื่อเราทำงานได้รับเงินเป็นรายได้จำนวนหนึ่ง เราสามารถนำเงินนั้นไปแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สินค้า หรือรับบริการที่ต้องการได้ทันที เช่น อาจใช้ซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ ซื้ออาหาร หรืออาจเก็บไว้ แลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการเมื่อใดก็ได้ และเมื่อใดก็ตามที่เราตัดสินใจใช้เงินที่เก็บออกไว้นั้นซื้อสินค้า เงินจะทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่า แต่ถ้าเราเก็บทรัพย์สินไว้ในรูปแบบของเมล็ดพืช โรงเรือน เกลือ หนังสัตว์ ฯลฯ มูลค่าของทรัพย์สินเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลง ทรัพย์สินบางชนิดก็เน่าเสียหายบางชนิดก็ไม่สะดวกแก่การเก็บรักษาไว้ได้นาน ดังนั้น เราจึงนิยมที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งของดังกล่าวเป็นเงินเสียก่อน เพราะเงินที่ดีย่อมมีมูลค่าคงตัวอยู่เสมอ และถ้าเรายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของเราก็อาจจะนำเงินนั้นไปฝากธนาคารให้ได้รับดอกเบี้ยงอกเงยขึ้นได้

วิวัฒนาการของเงินตรา
          มนุษย์รู้จักการแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในระยะแรก ๆ ก็ยังไม่สลับซับซ้อนมากนัก เริ่มแต่นำสิ่งของมาแลกกับสิ่งของก่อน ต่อมาจึงมีการแลกเปลี่ยนโดยใช้วัตถุเป็นสื่อกลาง จนกระทั่งรู้จักการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอยู่ในปัจจุบัน วิวัฒนาการของเงินตราจึงอาจแยกเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เงินตรา กับระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราได้ลำดับ ดังนี้

๑. ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินตรา
          เป็นระบบเศรษฐกิจในสมัยโบราณ สมัยที่คนเรายังไม่รู้จักใช้เงิน เมื่อต้องการสินค้าอย่างอื่น ก็จะนำสิ่งที่ตนหามาได้นั้นไปแลกกับสิ่งที่ตนต้องการ เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ เช่น นาย ก จับปลาได้ ๔ ตัว ใช้บริโภคเพียง ๒ ตัว เหลืออีก ๒ ตัว ต้องการจะแลกข้าว นาย ก ต้องสืบดูว่าใครบ้าง ที่มีข้าว และต้องการจะแลกข้าวกับปลา สมมติว่า นาย ข มีข้าวแต่ต้องการแลกกับไก่ นาย ก กับ นาย ข ก็ตกลงแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ต้องเดินทางหาผู้ต้องการตรงกันอีกต่อไป การแลกเปลี่ยนในระบบสิ่งของ กับ สิ่งของจึงมีข้อยุ่งยากและไม่สะดวกหลายประการ คือ

 ๑.๑ ความต้องการมักไม่ตรงกัน
         
การแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายมีความต้องการสิ่งของที่อีกฝ่ายหนึ่งมี และจะต้องมีความต้องการตรงกันทั้งจำนวนของและชนิดของสิ่งของที่จะนำมาแลกกัน มิฉะนั้น ก็จะแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ การสืบหาความต้องการดังกล่าวนี้ ย่อมยุ่งยากและเสียเวลามาก


๑.๒ ขาดมาตรฐานที่จะใช้วัดมูลค่า
          ถ้าคนที่ต้องการจะแลกของกันนั้น มีสิ่งของซึ่งมีมูลค่าแตกต่างกันมาก ก็จะแลกเปลี่ยนกันได้ยาก สมมติว่า นาย ก ตกลงจะเอาข้าวสารแลกกับวัวของนาย ข ได้แล้ว ขั้นต่อไปอาจเกิดปัญหาขึ้นมาอีกว่า จะใช้ข้าวสารสักกี่ถังถึงจะพอดีกับวัวตัวนั้น ตามปกติ นาย ก ก็คงไม่อยากเสียข้าวสารจำนวนมาก ในขณะที่ นาย ข ก็คงอยากจะได้ข้าวสารมากๆ ถ้าตกลงกันไม่ได้ นาย ข ก็คงต้องจูงวัวตระเวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะแลกข้าวสารได้
๑.๓ ยุ่งยากในการเก็บรักษา
          การเก็บรักษาสินค้าต่าง ๆ เพื่อไว้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ต้องยุ่งยาก เพราะเปลืองเนื้อที่ และของบางอย่างอาจเสื่อมคุณภาพได้ง่าย ยิ่งเป็นผู้ร่ำรวยมีทรัพย์สินมากการเก็บรักษาก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น
๒. ระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา
   
      เนื่องจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของโดยตรงมีความไม่สะดวกเกิดขึ้นดังกล่าว มนุษย์เราจึงได้สืบหา และทดลองสิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และรักษาค่าได้โดยสมบูรณ์ วิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา มีลำดับความเป็นมาดังนี้

๒.๑ เงินที่เป็นสิ่งของหรือสินค้า (
Commodity Money )
         
เกิดขึ้นเนื่องจากระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของโดยตรง มีข้อยุ่งยากหลายประการ มนุษยชาติจึงมีความคิดที่จะใช้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งใคร ๆ ก็อยากได้ และยินดีให้แลกกับของอย่างอื่นที่เขามีอยู่ สิ่งนั้นได้แก่ เงินซึ่งเป็นสิ่งของหรือสินค้า เช่น ผ้าขนสัตว์ ลูกปัด เปลือกหอย เป็นต้น สิ่งที่นำมาใช้เป็นเงินนี้อาจเป็นได้ทั้งสินค้าเพื่อบริโภค หรือใช้เป็นเครื่องประดับ และแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งเหล่านั้น เช่น ในแถบที่มีอากาศหนาว ผ้าขนสัตว์ หรือ หนังสัตว์ จะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการใช้ ผ้าขนสัตว์ และ หนังสัตว์ จึงใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอย่างอื่น สำหรับท้องถิ่นที่มีอากาศหนาว
          เมื่อเศรษฐกิจของโลกก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ การซื้อขายแลกเปลี่ยนขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งการใช้เงินที่เป็นสิ่งของเกิดความไม่เหมาะสมขึ้นหลายประการ คือ
          ๑) ไม่คงทน สิ่งของที่นำมาใช้เป็นเงินมักไม่คงทน เสื่อมคุณภาพง่าย ทำให้เราไม่สามารถจะเก็บออมไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ต้องรีบนำออกมาใช้โดยเร็ว
          ๒) มีค่าไม่มั่นคง
เพราะเงินที่เป็นสิ่งของหรือสินค้านั้นมักมีคุณภาพไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เช่น ถ้าใช้เมล็ดพืชเป็นเงิน เมล็ดพืช ๑ กระสอบ อาจมีส่วนหนึ่งที่เน่าเสียเสื่อมคุณภาพ หรือมีคุณภาพแตกต่างกัน และสิ่งของที่ใช้เป็นเงิน มักมีปริมาณไม่แน่นอน เช่น ถ้าเราใช้ใบยาสูบเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ปีไหนเพาะปลูกใบยาสูบได้น้อยก็เกิดการขาดแคลน มูลค่าของใบยาสูบก็สูง ผู้ที่จะนำสินค้ามาแลกใบยาสูบจะต้องใช้สินค้าจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าปีไหนเพาะปลูกใบยาสูบได้มากเกินต้องการมูลค่าของใบยาสูบก็ต่ำ ผู้ที่จะนำสินค้ามาแลกใบยาสูบจะใช้สินค้าจำนวนน้อยลงกว่าเดิม
          ๓) ยุ่งยากในการพกติดตัว เนื่องจากสินค้าที่ใช้เป็นเงิน เช่น หนังสัตว์ ใบยาสูบ เมล็ดพืช เหล่านี้มักมีขนาดใหญ่ น้ำหนักก็มาก ทำให้ยุ่งยากในการพกพาติดตัวไปซื้อขายแลกเปลี่ยน
          ๔) ยากที่จะแบ่งเป็นส่วนย่อย
สินค้าที่จะนำมาใช้เป็นเงิน ส่วนมากเมื่อแบ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเกิดความเสียหายในมูลค่าของมัน เช่น หนังสัตว์ ถ้านำมาแบ่งเป็นชิ้นเล็กเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกันแล้ว จะทำให้ค่าของมันลดลงอย่างมาก เป็นต้น
          ดังนั้นสิ่งที่จะนำมาใช้เป็นเงินที่ดีในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ก็ควรจะเป็นสิ่งที่คงทน มีค่ามั่นคง มีคุณภาพและปริมาณที่แน่นอน และสามารถแบ่งแยกเป็นส่วนย่อยได้ โดยไม่เสื่อมค่า
๒.๒ เงินกษาปณ์ ( Coinage )
          เมื่อมนุษย์พบแร่โลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง ดีบุก และเห็นว่าโลหะเหล่านี้เป็นของที่เหมาะแก่การใช้เป็นการแลกเปลี่ยน เพราะมีความคงทนไม่เน่าเปื่อยง่าย มีค่ามากแม้จะแบ่งแยกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  จึงสะดวกแก่การจับถือ เก็บรักษาไว้หรือพกพาติดตัวไป มนุษย์จึงเริ่มใช้โลหะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เดิมก็ใช้โลหะชนิดเลว ๆ ก่อน เช่น ดีบุก เหล็ก ทองแดง โดยทำเป็นรูปต่าง ๆ อย่างเช่น  ในอียิปต์ กรีซ บาบิโลน และประเทศอื่น ๆ ใช้โลหะมาทำเป็นเงินในรูประฆัง ดาบ จอบ ขวาน เป็นต้น
          การเอาโลหะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกันนี้ แต่เดิมมนุษย์เราก็ใช้ไปตามสภาพเดิมของแร่โลหะเหล่านั้น ยังไม่รู้จักหลอมทำเป็นก้อน หรือเป็นเงินเหรียญอย่างในปัจจุบัน ทำให้ไม่สะดวกแก่การแลกเปลี่ยน เพราะเวลาใช้ต้องคอยตรวจสอบน้ำหนัก และเลือกดูว่าเนื้อโลหะจะแท้หรือไม่แท้บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์เพียงใด ต่อมาจึงมีคนเข้ามารับรองน้ำหนัก และความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะ โดยประทับตรา หรือให้เครื่องหมายรับรองไว้เป็นสำคัญ อย่างเช่นเงินพดด้วงของไทย ซึ่งใช้กันในสมัยอยุธยา เป็นต้น
          การรับรองเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน ไม่ต้องเสียเวลานำโลหะไปหลอมดูความบริสุทธิ์ของเนื้อแร่ แต่ก็ยังติดขัดในการพกพาติดตัวไปก็ยังไม่สะดวก เพราะโลหะที่หลอมเป็นก้อน และทำไม่สวยงามไว้นั้น รูปร่างไม่สวยงาม และพกพาไม่สะดวก  จึงไม่ผู้ดัดแปลงทำเป็นเหรียญรูปแบน ๆ กลม ๆ หรือเป็นเหลี่ยมและให้มีเครื่องหมายรับรองความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะด้วย แต่เดิมมักทำด้วยทองแดง เช่น เหรียญกษาปณ์ของชาวฮิบรู แบะชาวโรมัน เป็นต้น ต่อมามนุษย์พบว่าทองคำและโลหะเงินเป็นโลหะที่มีมูลค่ามาก  แต่น้ำหนักน้อย มีความคงทน และ มูลค่าไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง จึงเอาทองคำและโลหะเงินมาทำเป็นเงินตรา สำหรับใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ส่วนทองแดงและนิกเกิลก็ยังใช้เป็นเงินปลีกโดยทำเป็นเงินตราราคาต่ำ ใช้แลกเปลี่ยนในสินค้าที่มูลค่าน้อย เงินตราที่ทำด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เรียกว่า เงินกษาปณ์ หรือเหรียญกษาปณ์
. เงินกระดาษ( Paper Money )
          เมื่อเศรษฐกิจของโลกเจริญก้าวหน้า มีการคมนาคมติดต่อระหว่างกันมากขึ้น มนุษย์เราเริ่มติดต่อค้าขายระหว่างท้องถิ่นขยายออกไปเป็นการค้าระหว่างประเทศ และปริมาณที่ซื้อขายกันก็มีจำนวนสูงขึ้นมากมาย ต้องใช้เหรียญกษาปณ์ชำระราคาสินค้ากันคราวละมาก ๆ มีน้ำหนักและกินเนื้อที่มาก คนเราจึงคิดทำเงินกระดาษขึ้นใช้แทนเหรียญกษาปณ์ ไทยเราเรียกว่า ธนบัตร เงินกระดาษเป็นที่นิยมใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนกัน เพราะมีน้ำหนักเบา ไม่กินเนื้อที่มาก พกพาติดตัวได้สะดวก โดยรัฐบาล ธนาคารเป็นผู้ออกเงินกระดาษให้ประชาชนใช้ เงินกระดาษจีนเป็นชาติริเริ่มใช้มาก่อน เพราะจีนเป็นชาติแรกที่รู้จักทำกระดาษขึ้นใช้ ต่อมาชาวอาหรับได้นำเข้าไปใช้ในยุโรป และเราเริ่มนิยมใช้เงินกระดาษแพร่หลายควบคู่กับเหรียญกษาปณ์
๔. เงินเครดิต(Credit Money)
         
เงินเครดิตเป็นเงินที่เกิดขึ้นในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ระบบธนาคารได้แพร่หลายขึ้นมาแล้ว เมื่อโลกเจริญมากขึ้น การซื้อขายแลกเปลี่ยนขยายตัวออกไปกว่าเดิม มนุษย์จึงนำเงินเครดิตออกมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยธนาคารพาณิชย์จะรับฝากเงินกระแสรายวัน ( Demand Deposit) ซึ่งจ่ายโอนกันได้ด้วยเซ็ค กล่าวคือ เมื่อเรานำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้ ธนาคารจะออกสมุดเซ็คให้เราถือไว้ เมื่อต้องการใช้เงิน เราก็เขียนเช็ค สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนที่สั่งจ่ายให้กับผู้ถือหรือบุคคลที่ระบุในเช็คนั้น เงินชนิดนี้มีลักษณะเป็นคำสั่งให้จ่ายโอน ตามเช็ค ซึ่งผู้ใช้เช็คจะต้องมีเงินฝากอยู่ในบัญชีฝากประเภทกระแสรายวันในธนาคารพาณิชย์



วิวัฒนาการของเงินตราในประเทศไทย
         
เงินประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย มีวิวัฒนาการ ที่น่าสนใจ ตามลำดับ ดังนี้
๑. เงินเหรียญกษาปณ์
         
ประเทศไทยใช้เงินเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยนำโลหะเงินมาจากต่างประเทศ แล้วนำมาหลอมเป็นเงินตรา สำหรับเบี้ยนั้นบรรดาชาวต่างประเทศจะเที่ยวเสาะหามาจากตามชายทะเล ทั้งเงินและเบี้ยคงใช้กันมากจนถึงสมัยอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๘๗ อันเป็นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเกิดมีการขาดแคลนเบี้ย จึงต้องนำดินมาเผา และตีตราขนาดต่างๆ กัน และเรียกว่า ประกับ ใช้เป็นเงินแทนเบี้ยเป็นการชั่วคราว ต่อมาได้มีการทำเงินพดด้วงในสมัยอยุธยา เงินพดด้วงมีลักษณะเป็นรูปกลมประทับตราสองดาว ดวงหนึ่งเป็นรูปจักร ส่วนอีกดวงหนึ่งเป็นเครื่องหมายรัชกาล เงินพดด้วงมี ๔ ชนิดด้วยกัน คือ ชนิด ๑ บาท ชนิดครึ่งบาท หรือสองสลึง  ชนิด ๑ สลึง และชนิด ๑ เฟื้อง ส่วนเบี้ยไม่มีการกำหนดค่าให้แน่นอน กล่าวคือ หากในท้องตลาดมีเบี้ยน้อย ราคาเบี้ยจะสูง และถ้าในท้องตลาดมีเบี้ยมาก ราคาเบี้ยก็จะตก การใช้เบี้ยนั้นนิยมใช้กันในการซื้อขายสินค้าที่ใช้บริโภคกันในท้องตลาด

          เงินพดด้วงแบบกรุงศรีอยุธยานั้นได้ใช้กันต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไทยได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีเปิดการค้าขายกับชาวต่างประเทศเป็นครั้งแรกการค้ากับต่างประเทศในสมัยนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บรรดาพ่อค้าต่างก็นำเหรียญดอลลาร์มาซื้อสินค้าในประเทศไทย แต่คนไทยไม่ยอมรับ ชาวต่างประเทศจึงนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินพดด้วงกับรัฐบาลไทยเสียก่อน  แต่เนื่องจากเงินพดด้วงทำได้ไม่พอกับความต้องการของชาวต่างประเทศ ชาวต่างประเทศที่มาค้าขายจึงพากันร้องทุกข์ว่าตนเสียประโยชน์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนรูปเงินตราจากเงินพดด้วงมาเป็นเหรียญ เพราะเงินเหรียญสามารถผลิตได้ด้วยเครื่องจักร และได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรับเงินเหรียญดอลลาร์จากชาวต่างประเทศได้ แล้วเอามาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติได้ในอัตรา ๓ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ต่อ ๕ บาท ทั้งนี้เพราะว่าระหว่างนั้น เครื่องจักรที่ใช้ผลิตเงินตรายังไม่มาถึง เมื่อโรงกษาปณ์ได้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ จึงได้มีการผลิตเงินตราไทยโดยทำขึ้นเป็นเหรียญมีตรามหามงกุฎ กับฉัตรทั้งสองข้างด้านหนึ่ง และตราช้างเผือกอยู่ในวงจักรอีกด้านหนึ่ง เงินตราที่ทำขึ้นเป็นเหรียญแบบนี้มี ๔ ชนิด คือ เหรียญบาท เหรียญกึ่งบาท เหรียญสลึง และเหรียญทองคำเหรียญละ ๑๐ สลึง ส่วนเงินพดด้วงนั้นไม่ได้ทำเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้อยู่จนกว่าจะหมดสิ้นไป
          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้โรงกษาปณ์ทำเหรียญดีบุกขึ้นใช้แทนเบี้ยหอย มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตร และตราช้างในวงจักร ทำเป็นสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า อัฐ  ขนาดเล็กเรียกว่า โสฬส เมื่อมีการผลิตเหรียญดีบุกก็เลิกใช้เบี้ยหอย ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ผลิตเหรียญทองคำ มีตราเช่นเดียวกับเหรียญเงิน ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ เรียกว่า ทศ ราคาอันละ ๘ บาท ขนาดกลางเรียกว่า พิศ ราคาอันละ ๔ บาท และขนาดเล็กเรียกว่า พัดดึงส์ ราคาอันละ ๔ สลึง
          เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ได้โปรดเกล้าฯ ให้โรงกษาปณ์สร้างเหรียญทองแดงขึ้นอีก มี ๒ ขนาด  คือ ขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็ก  ขนาดใหญ่ เรียกว่า ซีก ราคา ๒ อันเฟื้อง ขนาดเล็ก เรียกว่าเสี้ยว ราคา ๔ อันเฟื้อง เงินทองแดงได้ใช้ต่อมาดังพระราชประสงค์ ส่วนที่เป็นทองคำและดีบุกนั้นยกเลิกไป เพราะเหรียญทองคำราษฎรชอบนำไปเก็บไว้ หรือนำไปทำเครื่องประดับ และไม่นิยิมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่เหรียญดีบุกได้มีการทำปลอมขึ้น ทำให้ราษฎรรังเกียจที่จะใช้เหรียญดีบุก
          เหรียญที่สร้างขึ้นประจำรัชกาลตามประเพณีนั้น สำหรับเหรียญที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้านหนึ่งจะเป็นตราพระเกี้ยว ยอดมีพานรองสองชั้น และฉัตรทั้งสองข้าง ส่วนอีกด้านหนึ่งใช้รูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรเหมือนกับเหรียญรัชกาลที่ ๔ เงินเหรียญในสมัยนี้ทำเพียงสามขนาด ตามความนิยม คือ เหรียญบาท เหรียญสลึง และเหรียญเฟื้อง ทั้งยังได้สร้างเหรียญดีบุกขึ้นใหม่ ในราคา ๑ โสฬส ( ๑๖ อันเฟื้อง ) ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕
๒๔๑๖ แร่ดีบุก และแร่ทองแดงมีราคาสูงขึ้น จึงมีผู้นำเหรียญดีบุกและทองแดงมาหลอมส่งไปขายต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะราคาเหรียญทองแดงและดีบุกที่ใช้ในประเทศไทยต่ำกว่าราคาเนื้อดีบุก และทองแดงที่ซื้อขายกันในประเทศอื่น ๆ  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ปริมาณ เหรียญทองแดงและดีบุกมีใช้น้อยลง ประชาชนจึงหันไปใช้เบี้ยที่ทำด้วยกระเบื้อง ซึ่งเรียกว่า ปี้กระเบื้อง แทนเหรียญเงินกันอยู่ระยะหนึ่ง
          เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ การใช้ปี้กระเบื้องแทนเงินก็ยุติลง เนื่องจากรัฐบาลประกาศห้ามมิให้นายบ่อนทำปี้ขึ้นใช้ในเวลานั้น เหรียญทองแดงซึ่งทำจากยุโรปยังไม่เสร็จ จึงได้มีการออกธนบัตรราคาใบละ ๑ อัฐมาใช้ จนกระทั่งได้มีการผลิตเหรียญทองแดงประจำรัชกาลที่ ๕ ขึ้น โดยทำเป็น ๓ ขนาด  คือ เสี้ยว อัฐ และโสฬส ส่วนโรงกษาปณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้นได้ผลิดเหรียญออกมา ๓ ขนาด  คือ เหรียญบาท เหรียญสลึง และ เหรียญเฟื้อง  มีด้านหนึ่งเป็นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพะจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ พร้อมทั้งพระนามอยู่รอบพระบรมรูป ส่วนอีกด้านหนึ่งมีตราแผ่นดิน ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญทองแดงซีกขึ้นอีกด้วย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้โปรดเกล้าให้สร้างเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ หรือ โสฬส ขึ้นใหม่ โดยการเปลี่ยนตราใหม่ในด้านหนึ่งมีพระรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระสยามเทวาธิราช ทั้งยังโปรดเกล้าให้สร้างเหรียญทองแดงเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. ๒๔๓๔      
            ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๑ รัฐบาลเห็นว่าเป็นการไม่สะดวกในการทำบัญชี จึงได้คิดทำเหรียญทองขาวขึ้นใช้ เรียกว่า สตางค์ เพื่อใช้ในการทำบัญชี มีแต่เพียงช่องบาท กับ สตางค์ สตางค์ที่ผลิตขึ้นด้วยทองขาวมี ๔ ขนาด คือ ๒๐ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ๕ สตางค์ และ ๒ ครึ่งสตางค์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงได้เลิกใช้เงินดีบุก และหันมาใช้เหรียญกษาปณ์ทองขาว และทองแดงชนิดต่าง ๆ คือ ทองขาว ๑๐ สตางค์ ทองขาว ๕ สตางค์ และทองแดง ๑ สตางค์ และปัจจุบันจะใช้ในวงการราชการและธนาคารต่าง ๆ เท่านั้น

๒. ธนบัตร
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้ผลิตธนบัตรขึ้น 
โดยมีตัวอักษรพิมพ์ หรือประทับพระราชลัญจกร ๓ ดวง เรียกกันว่า หมาย มีราคาต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ใบละ ๑ บาท จนถึงใบละ ๑ เฟื้อง ทั้งยังมีพระราชดำริให้สร้างใบพระราชทานเงินตรา หรือ เช็ค ให้มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกรด้วยชาด ๒ ดวง ด้วยความ ๑ ดวง  และเป็นลายดุน ๑ ดวงไว้เป็นสำคัญทุกใบ มีราคาต่างกันตั้งแต่ ๑ ชั่ง ถึง ๑๐ ตำลึง ทั้งนี้ปรากฏตามจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕ จ.ศ. ๑๒๑๕ (พ.ศ. ๒๓๙๖) เรื่อง โปรดเกล้าฯ ให้ใช้หมายแทนเงินเนื่องจากเงินเฟื้อง เงินสลึง และเงินบาทที่ใช้สอยกันอยู่มีเงินตะกั่ว ทองแดง ปลอมแปลงอยู่มิใช่น้อย โดยมีนักเลงสูบฝิ่นเป็นผู้ปลอมแปลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำหมายกระดาษแทนเงินใช้เพื่อมิให้เงินปลอมใช้ต่อไป เมื่อผู้ใดได้หมายไป ใคร่จะได้เงินก็เอาหมายมาแลกเปลี่ยนที่โรงทหารในพระบรมมหาราชวัง เริ่มด้วย ๑ เฟื้องเป็นอย่างต่ำ และทับทวีขึ้นไปครั้งล่ะ ๑ เฟื้อง จนถึง ๑ บาท
          ส่วนการจัดทำธนบัตรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าได้มีธนบัตรต่างประเทศ ๓ ธนาคาร เข้ามาดำเนินการ คือ ธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เปิดทำการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ธนาคารชาเตอร์แบงค์ เปิดทำการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ และ ธนาคารอินโดจีน เปิดทำการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ทั้ง ๓ ธนาคารได้นำบัตรธนาคาร (
Bank Note) หรือตั๋วสัญญาใช้เงินออกใช้ ซึ่งคนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า แบงก์ และติดปากเรียกธนบัตรของรัฐบาลว่า แบงก์ มาจนถึงทุกวันนี้ บัตรธนาคารนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เนื่องจากราษฎรไม่นิยมคงหมุนเวียนอยู่ในหมู่พ่อค้ายุโรป และชาวจีนที่ค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น เนื่องจากการค้าในพระราชอาณาจักรขยายตัวขึ้น การใช้เงินตราโลหะชำระสินค้าเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากแก่ราษฎรทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการใช้ธนบัตร และได้โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๓ คือได้สั่งพิมพ์ตั๋วเงินพระคลัง (Treasury Note) มาจากเมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี เพื่อที่จะนำออกใช้ แต่ได้ระงับไว้ คงเนื่องจากมีเหตุขัดข้องไม่พร้อมประการใดประการหนึ่ง ต่อมานายไรเวทต์ คาร์แนค ที่ปรึกษาการคลังได้เสนอให้พิมพ์ธนบัตรออกใช้โดยเสนอไว้สามวิธี คือ วิธีที่หนึ่งออกตั๋วเงินพระคลัง ให้ใช้แทนเงินได้ตามกฎหมาย วิธีที่สอง ให้ธนาคารแห่งชาติมีสิทธิ์พิมพ์ธนบัตรออกจำหน่าย และวิธีที่สาม รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรออกจำหน่ายเอง โดยให้ราษฎรเอาเงินตรามาแลกไปใช้ และเก็บเอาตั๋วเงินตราที่มาแลกไว้นั้น เป็นประกันค่าของธนบัตร ในที่สุดก็โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินตามวิธีที่สาม โดยโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ ใช้พระราชบัญญัติธนบัตร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมธนบัตร มีหน้าที่จัดพิมพ์ธนบัตรออกจำหน่ายเป็นประเดิม รวม ๕ ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดใบละ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท ธนบัตรทุกชนิดสั่งพิมพ์จากบริษัท โทมัส เดอ ลารู ประเทศอังกฤษ เมื่อรัฐบาลดำเนินการออกธนบัตรเองเช่นนี้แล้ว ธนาคารต่างประเทศที่เคยพิมพ์ธนบัตรของธนาคารออกใช้ จึงเลิกการใช้ธนบัตรของตน และราษฎรก็นิยมใช้ธนบัตรของรัฐบาลกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา
          ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นระยะสงครามโลกครั้งที่  ๑ รัฐบาลได้ประกาศแก้ราคาธนบัตรชนิดราคา ๑ บาท บางหมวดเป็นธนบัตร ชนิดราคา ๕ บาท เนื่องจากธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากต่างประเทศเกิดขาดมือลง นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑๒๔๘๓ ประเทศไทยยังใช้ธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากบริษัท โทมัส เดอ ลารู ตลอดมา เพียงแต่เปลี่ยนรูปขนาด และลวดลายให้เหมาะสมในบางครั้งเท่านั้น พอเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๔  รัฐบาลไม่สามารถสั่งธนบัตรจากต่างประเทศได้ จึงต้องขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยจัดพิมพ์ธนบัตรให้ โดยบริษัท มิตซุย ไกชา มีทุกชนิดทุกราคา กับได้สั่งพิมพ์เพิ่มธนบัตรชนิดราคา ๕๐ สตางค์ ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๘๕ ด้วย แต่การขนส่งธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่นไม่ใคร่สะดวกนัก รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองภายในประเทศ ธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นมีทุกชนิดที่พิมพ์ขึ้นใช้ กับได้พิมพ์ชนิดราคา ๕๐ บาท เพิ่มขึ้นด้วย ธนบัตรที่พิมพ์ได้มีคุณภาพต่ำ เพราะวัสดุที่ใช้พิมพ์ได้ใช้สิ่งของเก่าที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงปรากฏว่ามีการปลอมแปลงกันมาก แต่ก็ได้ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนไปได้ตลอดระยะสงคราม
          ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ รัฐบาลได้สั่งพิมพ์ธนบัตรจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม และมิได้รับความบอบช้ำอย่างอังกฤษ และได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙  แต่คุณภาพไม่ค่อยดี และมีการปลอมแปลงมาก รัฐบาลจึงกลับไปสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัท โทมัส เดอ ลารู ประเทศอังกฤษดังเดิม ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยต้องสั่งพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศเช่นนี้ ทำให้เกิดความยุ่งยากหลายประการ โดยเฉพาะในภาวะสงคราม และการจัดพิมพ์เองก็ขาดวัสดุอุปกรณ์ทำให้เกิดการปลอมแปลง เป็นผลเสียหายต่อการเงินของประเทศ รัฐบาลจึงดำริจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเอง โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรใช้เอง ในการดำเนินงานตามคณะรัฐมนตรีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งพนักงานออกไปฝึกงานการพิมพ์ในต่างประเทศ จัดเตรียมที่ดิน เครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์ทันสมัย และได้เปิดโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้น เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ โรงพิมพ์นี้เริ่มพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท และ ๕๐๐ บาท พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยเปลี่ยนแปลงแบบ และขนาดให้ผิดแผกแตกต่างจากแบบที่เคยพิมพ์จากต่างประเทศ และได้ใช้เทคนิคต่าง ๆ ด้านการพิมพ์เพื่อความสวยงาม และป้องกันการปลอมแปลงมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้


ปริมาณเงิน
          ในระบบการแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นปริมาณเงินจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน
ส่วนหนึ่ง คือ เงินที่รัฐบาลผลิตขึ้นมาประกอบด้วยธนบัตร และ เหรียญกษาปณ์ กับอีกส่วนหนึ่งที่เป็นผลของการที่เงินหมุนเวียนเปลี่ยนมืออยู่ในระบบ  เช่น ธนบัตร ราคา ๑๐๐ บาท จำนวน ๒ ฉบับ ฉบับแรกนาย ก. นำไปซื้อดินสอจาก นาย ข. แล้วนาย  ข. เก็บธนบัตรฉบับนี้ไว้ไม่นำมาซื้อขายกันอีกต่อไป ธนบัตรฉบับแรกนี้สามารถซื้อสินค้ามูลค่าเพียง ๑๐๐ บาทเท่านั้น ส่วนฉบับที่ ๒ ได้มีการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ๑๐ ครั้ง ครั้งละ ๑๐๐ บาท นักเรียนจะเห็นได้ว่า ธนบัตรฉบับที่สองนี้สามารถซื้อสินค้ามีมูลค่าถึง ๑,๐๐๐ บาท (๑๐๐
×๑๐ ) เงินทั้งสองส่วนนี้รวมกันเป็นปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง ปริมาณเงินที่เหมาะสมนั้นเราต้องเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้า และบริการที่ผลิตได้ เพราะปริมาณเงินเป็นสิ่งที่เรามีอำนาจซื้อสินค้าและบริการได้มากขึ้นหรือน้อยลง นักเรียนอาจทำความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณเงินได้ต่อไปนี้ตามลำดับ

 ๑. ปริมาณเงิน (
Money Supply )
          คือ จำนวนเงินที่พร้อมจะใช้แลกเปลี่ยน จำหน่ายสินค้าและบริการ และชำระหนี้ตามความต้องการได้ทันที โดยทั่วไป อาจจำแนกได้เป็น ๒ อย่าง คือ
          ก. ปริมาณเงินตามความหมายอย่างแคบ เป็นปริมาณเงินที่ประชาชนถือไว้เพื่อเป็นสื่อในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ประกอบด้วย
          (๑) ธนบัตร ที่ถือโดยประชาชน
          (๒) เหรียญกษาปณ์ ที่ถือโดยประชาชน
          (๓) เงินฝากกระแสรายวัน ที่ถือโดยประชาชน
          ข. ปริมาณเงินตามความหมายอย่างกว้าง เป็นปริมาณเงินที่ประชาชนถือไว้เพื่อเป็นสื่อในการซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมทั้งเงินที่ถือไว้เป็นเครื่องสะสมค่า เพื่อหาผลตอบแทนซึ่งประกอบด้วย
          (๑) ธนบัตรที่ถือโดยประชาชน
          (๒
) เหรียญกษาปณ์ที่ถือโดยประชาชน
          (๓
) เงินฝากกระแสรายวันที่ถือโดยประชาชน
          (๔) เงินฝากออมทรัพย์ที่ถือโดยประชาชน
          (๕
) เงินฝากประจำและหลักทรัพย์อื่นที่เปลี่ยนมือง่าย ที่ถือโดยประชาชน
          (๖
) หลักทรัพย์อื่นที่เปลี่ยนมือได้
          ในระยะที่ระบบการเงินของประเทศยังไม่พัฒนา เมื่อพิจารณาถึงปริมาณเงินจะเป็นปริมาณเงินตามความหมายอย่างแคบ แต่เมื่อระบบการเงินของประเทศเจริญก้าวหน้า เอกสารทางการเงินได้รับการพัฒนามากขึ้น ปริมาณเงินจะครอบคลุมถึงปริมาณเงินตามความหมายอย่างกว้าง ที่ประเทศต่าง ๆ ใช้จึงอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบการเงิน และสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น ๆ
 
. มูลค่าของเงิน ( Value of Money )
          เรามักได้ยินคนกล่าวเสมอว่า เงินบาทของไทยมีค่าต่ำลง เงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกามีค่าสูงขึ้น มูลค่าของเงินมี อยู่ ๒ กรณี คือ
         
.๑ ค่าภายนอกของเงิน คือ ราคาของเงินตราสกุลหนึ่ง เมื่อคิดเป็นราคาของเงินตราสกุลอื่น ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เช่น ๑ ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเทียบกับเงินบาทเท่ากับ ๒๕ บาท เป็นต้น อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จึงเป็นเสมือนราคาสินค้าชนิดหนึ่งที่กำหนดขึ้นด้วยเงินตราของอีกประเทศหนึ่ง เวลาต้องการจะได้เงินดอลลาร์ ๑ ดอลลาร์ เราจะต้องใช้เงินบาทจำนวน ๒๕ บาทไปแลกจึงจะได้ ๑ ดอลลาร์ ต่อมาอัตราแลกเปลี่ยนเป็น ๑ ดอลลาร์ ต่อ ๓๐ บาท แสดงว่า ค่าภายนอกของเงินบาทลดลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะเมื่อต้องการเงิน ๑ ดอลลาร์ ต่อ ๓๐ บาท แสดงค่าภายนอกของเงินบาทลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะเมื่อต้องการ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เราต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น จาก ๒๕ บาท เป็น ๓๐ บาทไปแลก จึงจะได้ ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่าเดิม
         
.๒ ค่าภายในของเงิน คือ ความสามารถ หรือ อำนาจซื้อ ที่เงินแต่ละหน่วยจะซื้อสินค้าและบริการได้ เช่น สมมติว่าเราซื้อข้าว ๑ ถัง ได้ด้วยเงิน ๔๐ บาท ต่อมาข้าวสารชนิดเดียวกันนี้ราคาสูงขึ้นเป็นถังละ ๖๐ บาท ที่เป็นดังนี้เนื่องมาจากค่าของข้าวสารสูงขึ้น หรือค่าของเงินบาทลดลงไปก็ได้ ถ้าหากราคาสินค้าอื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว มีแต่ข้าวสารเท่านั้นที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไป แสดงว่า ค่าของข้าวสารสูงขึ้น แต่ถ้าราคาสินค้าอื่น ๆ ส่วนมากก็จะสูงขึ้นด้วย แสดงว่าค่าของเงินลดลง
          เนื่องจากเรามีสินค้าและบริการอยู่มากมายหลายชนิด หากจะกล่าวได้ว่า ค่าภายในของเงินตกต่ำโดยวัดจากราคาข้าวหรือถ่าน และค่าของเงินสูงขึ้นโดยวัดจากราคาหนังสือ หรือดินสอดำ  เช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้อง การวัดค่าของเงินนั้นจะต้องวัดโดยการเทียบกับระดับราคาทั่วไป  ซึ่งเป็นราคาถัวเฉลี่ยของสินค้าและบริการที่มีอยู่ในชุมชนนั้น
          เมื่อระดับสินค้าทั่วไปของสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สูงขึ้น แสดงว่าค่าภายในของเงินลดลง ( จำนวนเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าได้น้อยลง) แต่ถ้าระดับราคาทั่วไปลดต่ำลง ค่าของเงินจะสูงขึ้น (เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าได้มากขึ้น) ดังนั้น มูลค่าของเงินจะเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้ามกับระดับราคาทั่วไปเสมอ


อ้างอิงจาก :   เอนก เธียรถาวร และคณะ๒๕๓๕. หนังสือเรียนสังคมศึกษา รายวิชา ส ๐๖๒ การเงิน การธนาคาร และการคลัง . กรุงเทพมหานคร วัฒนาพานิช

...........ใช้เพื่อการศึกษา...................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น